OR ลุยสู่เป้าหมายผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐาน EV ในไทย

ผู้ชมทั้งหมด 12,815 

เทรนด์ส่งเสริมการใช้ “พลังงานสะอาด” ที่แพร่สะพัดไปทั่วโลกในปัจจุบันและนับวันจะยิ่งมีบทบาททวีคูณมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้เชื้อเพลิงสะอาดเพื่อขับเคลื่อนยานยนต์บนท้องถนนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2565 ประเทศไทย มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(EV) คิดเป็นสัดส่วน 58% สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ก็ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก หรือ ‘ฮับ’ (Hub) ของยายนต์ไฟฟ้า(EV)

ดังนั้น เมื่อทิศทางความต้องการใช้ยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิม(เครื่องยนต์สันดาปฯ) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) จึงนับเป็นทางเลือกใหม่ของประเทศไทยเพื่อรักษาให้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่รอด ซึ่งในปี 2562 ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้มากกว่า 1 ล้านคัน ถือเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับ 11 ของโลก

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จึงกำหนดแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ (ปี พ.ศ. 2573) และกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” ที่มียอดจำหน่ายน้ำมัน(มาร์เก็ตแชร์) สัดส่วน 43% (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี2566) เบอร์ 1 ของประเทศ ไม่รอช้าได้จัดทำแผนขับเคลื่อนธุรกิจ Mobility ที่ปัจจุบันยังเป็นธุรกิจหลักของ OR มีสัดส่วน EBITDA ถึง 71% โดยหันมาขยายการลงทุนในธุรกิจติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “EV Station PluZ” ควบคู่ไปกับการขยายสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR ระบุว่า OR มุ่งรักษาความเป็นผู้นำใน Mobility Ecosystem ขณะเดียวกันในปีนี้ จะเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility ปีนี้ ในแง่การขยายสาขา พีทีที สเตชั่น มีเป้าหมายขยายเพิ่มประมาณ 100 แห่ง จากณ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ 2,168 แห่ง และ EV Station PluZ จะขยายเพิ่ม 500 เครื่องชาร์จ ณ 31 มีนาคม 2566  อยู่ที่ 452 แห่ง เป็น DC Fast Charge 846  หัวชาร์จ แบ่งเป็นในสถานีบริการ จำนวน 348 แห่ง (เปิดใช้งานแล้ว 169 แห่ง) และนอกสถานีบริการ จำนวน 104 แห่ง (เปิดใช้งานแล้ว 28 แห่ง)

โดยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเร่งขยายการติดตั้ง EV Station PluZ เพิ่มขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EV Station PluZ จำนวน 7,000 เครื่องชาร์จ ภายในปี 2573 หรือ ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐาน EV ในประเทศไทย ที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายในปีนี้ รวมถึงยังจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือในธุรกิจ EV ของกลุ่ม ปตท. อย่างเป็นระบบด้วย

สำหรับการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Mobility ในปี2566 OR ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 6,799 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของงบลงทุนรวมอยู่ที่ ประมาณ 31,000 ล้านบาท

OR ยังคงมุ่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคตผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในโรงแรมในเครือให้ครอบคลุม 12 แห่ง ทั่วประเทศ, ความร่วมมือกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รูปแบบ Quick Charge ณ ศูนย์ผู้จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ จำนวน 4 แห่ง, ความร่วมมือกับเครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโล ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารวม 11 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ OR ยังได้ สานต่อความร่วมมือในระยะที่ 2 กับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ศึกษา และทดสอบ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขนส่งสินค้า และพัสดุในเส้นทางที่ลาดชันในจังหวัดภูเก็ต และชลบุรี ตอกย้ำการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปีพ.ศ. 2573 OR

อีกทั้ง ยังมีความร่วมมือกับ EVme พัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าไปทั่วประเทศ โดยภายใต้ความ ร่วมมือนี้ ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ EVme ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเช่ารถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะร่วมกันศึกษา และพัฒนาการบริการของ FIT Auto ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงรถ EV เช่น ชิ้นส่วน อะไหล่ ยาง และแบตเตอรี่ เพื่อแสวงหาการพัฒนา ศักยภาพใหม่ ๆ และยกระดับการบริการด้านการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า ให้รองรับต่อการขยายตัวของตลาด EV และความต้องการ ที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดกิจกรรม และการจัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ EV ที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้ กับผู้ใช้งาน EV ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของ EVme โดย ณ 31 มีนาคม 2566 มีศูนย์บริการยานยนต์ Fit Auto จำนวนทั้งสิ้น 87 สาขา 

นายดิษทัต มองว่า OR มีเป้าหมายสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชะลอและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานให้มากกว่า 1 ใน 3 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีพ.ศ. 2593 ซึ่ง OR มีแผนงานเพื่อดำเนินการให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย และการติดตั้งสถานี EV Charging Station ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว