TOP ลุ้น ไตรมาส 3-4 พลิกมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน

ผู้ชมทั้งหมด 508 

ไทยออยล์ คาด ไตรมาส2 ค่าการกลั่น(GRM)ลดลงจากไตรมาส 1 ชี้อาจมีขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน ขณะที่ครึ่งปีหลัง ทิศทางดีขึ้น ไตรมาส3-4 อาจพลิกมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน ขณะที่โครงการพลังงานสะอาด(CFP) ก่อสร้างเสร็จปลายปีนี้ COD ปี2567

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2023 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 โดยระบุว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปี2566 คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น จากปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมัน หรือสต็อกน้ำมันของโลกยังอยู่ในระดับสูง โดยมีการคาดการณ์ว่า ซัพพลายจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และความต้องการใช้น้ำมัน(ดีมานด์) จะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้ สต็อกน้ำมันโลกยังสูง และทำให้คาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ไทยออยล์อาจจะยังเกิดปัญหาการขาดทุนสต็อกน้ำมัน จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน และในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ อาจกลับมามีกำไรจากสต็อกน้ำมันได้

ขณะที่ค่าการกลั่น(GRM) ในไตรมาส2 ของปีนี้ มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส1 ที่อยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ โรงกลั่นเริ่มลดกำลังการผลิตและลดการส่งออก ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)และ GRM ในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมองดีมานด์ทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์อยู่ในทิศทางที่ดี โดยในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น ดีมานด์ยังเติบโตดี 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตใหม่ของโรงกลั่นที่จะเข้ามาในตลาดอาจจะดูใกล้เคียงกัน ซึ่งในส่วนของน้ำมันเบนซิน ยังเติบโตได้ดีในฝั่งเอเชีย และสต็อกน้ำมันเบนซินทั่วโลกค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะหน้าร้อน ทำให้ดีมานด์โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐมีความต้องการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันระยะสั้นจากการส่งออกของจีน  

ส่วนน้ำมันอากาศยาน (Jet) จะเห็นว่าเที่ยวบิน กลับมาเพิ่มขึ้นเหนือระดับปี 2562 ทำหดีมานด์ไต่ระดับกลับไปสู่ภาวะปกติ ก็จะเป็นตัวที่เข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจ ขณะที่น้ำมันดีเซล ดีมานด์ยังเติบโตได้ดีขณะที่สต็อกทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และยังมีปัจจัยกดดันระยะสั้นจากการส่งออกของจีน 

ด้านน้ำมันเตา ดีมานด์ยืนเหนือระดับปี 2562 ตลอดเพราะมีความต้องการใช้ทำไฟฟ้าสำหรับประเทศเมืองร้อน และการใช้เดินเรือ แต่ยังมีปัจจัยกดดันทั้งรัสเซียและจีนที่ยังส่งออกได้ในระดับปกติ

สำหรับทิศทางธุรกิจปิโตรเคมี ในส่วนของตลาดอะโรมาติก ตัวสาร PX และเบนซีน ปีนี้ยังเผชิญกับภาวะกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาดค่อนข้างสูงอยู่ประมาณ 5.5 ล้านตัน แต่ระยะสั้นจะเห็นว่า สเปรด และ มาร์จิ้นเริ่มฟื้นตัวจากปีก่อน เช่น ตัว PX ราคาปรับเพิ่มขึ้น 200-300 ดอลลาร์ต่อตัน

ส่วนตลาดโอเลฟินส์ ในฝั่งซัพพลายจะคล้านกับตลาดอะโรมาติก ยังอยู่ในระดับสูงจากกำลังผลิตใหม่ที่จะกดดันมาร์จิ้น และสเปรดฟื้นตัวจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ สเปรดจะทรงตัว และน่าจะฟื้นตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า จากกำลังการผลิตใหม่ที่น่าจะลดลง

ขณะที่ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เริ่มย่อตัวลงมาในช่วงนี้ แต่ยังดีกว่าช่วงเกิดโควิด-19 จากทิศทางของโรงกลั่นที่เดินเครื่องการผลิตเพิ่ม แต่ก็มีการปิดซ่อมบำรุงอยู่ในช่วงนี้ ก็อาจช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ได้อยู่

“สรุปน้ำมันดิบมีทิศทางย่อตัวลงในไตรมาส 2 ก็อาจมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือ สอดรับกับทิศทางของโรงกลั่น ส่วนอตลาดอะโรมาติกและตลาดโอเลฟินส์ มีแนวโน้มลดลงจากกำลังการผลิตใหม่ที่ยังเข้ามาในตลาดอยู่”

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) ที่จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์(COD) ในปี2567

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจไฮโดรเจน ก็จะเชื่อมต่อกับธุรกิจของไทยออยล์ โดยการผลิตกรีนไฮโดรเจน จะส่งผลให้มีการปลดปล่อยคาร์บอน์น้อยลง ส่วนการดักจับก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ (Carbon Capture) ปัจจุบันศึกษาอยู่กับกลุ่ม ปตท. สำหรับการลงทุนยังต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายปี

สำหรับธุรกิจใหม่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนดีลได้ แต่จะพิจารณาการลงทุนตามความเหมาะสมและต้องสามารถเชื่อมต่อกับธุรกิจปัจจุบันของไทยออยล์ได้ ส่วนขนาดการลงทุน มองว่า ขณะนี้ยังเป็นลักษณะความร่วมมือไปก่อน ส่วนการลงทุนในอนาคตยังต้องรอดูความชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ ไทยออยล์ ได้วางแผนการขับเคลื่อนการลงทุนระยะ 4 ปี (ปี2566-2569) ภายใต้งบประมาณ 1,082 ล้านดอลลาร์ฯ โดยโครงการลงทุนหลักๆ เช่น ประมาณ 556 ล้านดอลลาร์ฯ จะใช้สำหรับลงทุนโครงการพลังงานสะอาด  หรือ Clean Fuel Project (CFP) และใช้ลงทุนขยายโรงงานโอเลฟินส์ ประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ คากว่าจะเห็นการลงทุนในปีหน้า ส่วนที่เหลือใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น