ผู้ชมทั้งหมด 8,966
ปตท.จ่อนำเข้า LNG ปี66 เกือบ 100 ลำ ราว 6 ล้านตัน ป้อนผลิตไฟ รองรับเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้น ชี้ราคาถูกลงมาก ล่าสุด แตะ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เชื่อเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้า ขณะที่ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เตรียมรุกสู่ธุรกิจใหม่ เสริมแกร่งพลังงานไทย สร้างความมั่นคง บรรลุเป้าหมาย NET ZERO
นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือPTT กล่าวว่า ปตท.ประเมินว่าในปีนี้ อาจมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เกือบ 100 ลำ หรือ ประมาณ 6 ล้านตัน จากปัจจุบันที่นำเข้ามาแล้ว 60 ลำ อยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือ ลำละ 60,000 ตัน ขณะที่ปี 2565 มีการนำเข้าอยู่ที่ 53 ลำ หรือ ราว 3.3 ล้านตัน โดยการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ประกอบกับทิศทางราคา Spot LNG ถูกลงคุ้มค่ากว่าการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า
ล่าสุด ราคา Spot LNG เดือน มิ.ย.นี้ อยู่ที่ประมาณ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปีที่ผ่านมา บางช่วงราคาสูงสุดอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และคาดว่าจนถึงปลายปีนี้ ราคาอาจจะอยู่ที่ราว 15-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยราคาที่ปตท.ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วนั้นจะไม่เกิน 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ ราคา LNG ที่ต่ำลงเกิดจากกลุ่มสภาพยุโรป (อียู) มีการสำรองLNG ไว้ในปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) ในงวดถัดไปลดลงได้
อย่างไรก็ตาม ปตท.จะนำเข้า LNG ในปีนี้ถึง 100 ลำตามเป้าหมายหรือไม่ ยังต้องติดตามดูว่า ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยเป็นไปตามแผนหรือไม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและราคาLNGในอนาคตด้วย ซึ่งการนำเข้า LNG แต่ละล็อตจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ด้วย
ทั้งนี้ บทบาทของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ในการขยายเครือข่ายทางการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด และนำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์โลกพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคตหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยคาดว่า ปีนี้จะมีการปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ตามที่กำหนดไว้
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
โดยในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย
นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
“ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 30%ในปี2573 จากปี 2565 อยู่ที่ 15% โดยปัจจุบันมีการเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรในหลายธุรกิจ เช่น ความมั่นคงของระบบน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งเรื่องการรีไซเคิลน้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการผันน้ำ การลงทุนระบบท่อน้ำ เพราะกลุ่มปตท. มีความต้องการใช้น้ำมัน สัดส่วน 30% ของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก”
นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังให้ความสำคัญด้านกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business) รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น