ผู้ชมทั้งหมด 21,071
ผู้ว่ากฟผ. ยันไม่สามารถช่วยแบกรับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าได้เกิน 1.5 แสนล้านบาท ชี้เป็นฟางเส้นสุดท้าย หวั่นเสียเครดิตหากไม่มีเงินใช้ชำระคืนเงินกู้ ด้านปลัดก.พลังงานแย้มค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 66 จะต่ำกว่า 4 บาทหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ราคาก๊าซฯ ปตท.สผ.ผลิตก๊าซเอราวัณได้ตามเป้า
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) แทนประชาชน 150,000 ล้านบาท ว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ต้องไปเจรจากับคู่สัญญา อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง 2 การไฟฟ้าจัดจำหน่ายที่กฟผ. ต้องรับเงิน รวมถึงการกู้เงินวงเงินรวม 110,000 ล้านบาท ถือเป็นการกู้เงินระยะสั้นและเบิกได้ตามวงเงิน เป็นการกู้โดยการใช้งานที่ต้องจ่ายเงินต้นและคืนภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหากไม่ได้เงินค่าเอฟทีตามระยะเวลาที่ขยายให้ก็จะทำให้กฟผ.ไม่มีเงินไปชำระคืนหนี้ให้สถาบันการเงินก็จะส่งผลให้การจัดอันดับเครดิตที่เคยดีมาตลอดของกฟผ.มีปัญหา
ดังนั้นกฟผ.ยืนยันว่า สามารถรับภาระค่าไฟฟ้าได้เฉพาะงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เท่านั้น ไม่สามารถรับภาระเพิ่มได้อีกเพราะฐานการเงินไม่เพียงพอ ซึ่งการแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนนั้น ช่วยให้ค่าเอฟทีลดลงจากเดิมที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วยเป็นอัตราเอฟทีใหม่จะอยู่ที่ 91.19 สตางค์และค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือลด 7 สตางค์
ทั้งนี้การขยายเวลารับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนรวม 150,000 ล้านบาทนั้น เดิมกำหนดคืนหนี้ค่าเอฟทีให้กฟผ. ใน 6 งวด (ม.ค.66 – ธ.ค.67) แต่ตอนนี้ขยายให้ไป 7 งวด (ม.ค.66 – เม.ย.68) อย่างไรก็ตามในงวด พ.ค. – ส.ค.นี้ กฟผ.จะได้คืนหนี้คิดเป็นค่าเอฟที 27.82 สตางค์ต่อหน่วย (18,158ล้านบาท) จากเดิมจะได้คืน 34.90 สตางค์ต่อหน่วย (22,781ล้านบาท) หรือได้คืนลดลง 4,623 ล้านบาท
“การแบกรับค่าเอฟทีให้ประชาชนตอนนี้เปรียบเสมือนอูฐแบกฟาง จนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วจึงไม่สามารถเพิ่มภาระได้อีกจากวงเงิน 150,000 ล้านบาท และเมื่อทยอยคืนจนครบ 7 งวดในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้มแทน”
นายบุญญนิตย์ กล่าวถึงกรณีที่แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเรื่องการปรัลลดค่าไฟฟ้า ว่า ในเรื่องนี้จะไปวิพากษ์วิจารณ์คงไม่เหมาะสม แต่ละพรรคก็มีวิธีการต่างๆ นานา ซึ่งกฟผ.ก็กำลังศึกษาอยู่ว่าในแต่ละเรื่องทำได้จริงแค่ไหน และก็บางเรื่องทำได้แล้วจะเกิดผลกระทบกับกฟผ.อย่างไร หรือผู้ที่ได้เป็นรัฐบาลหากจะลดค่าไฟฟ้าตามที่หาเสียงไว้ก็ต้องดูว่าจะมาซัพพอร์ตกฟผ. อย่างไร ซึ่งถ้าเขาต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ต้องมีคนเสียประโยชน์ และจะเอาเงินจากไหนมาซัพพอร์ต
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้าย (ก.ย. – ธ.ค. 2566) จะต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยหรือไม่หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยระบุว่า หากจะให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยนั้นก็ต้องดูว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำมาคิดคำนวณค่าเอฟทีจะอยู่ที่เท่าไหร่ ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร และก็ต้องไปดูว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 ได้ตามเป้าหมายหรือไม่
โดยปตท.สผ. มีเป้าหมายการผลิตก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี โดยคาดว่าในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นส่วนช่วยให้มีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ถูกทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ในขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้กำชับให้ปตท. จัดหา LNG ให้ได้ในราคา 13-15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูในรอบหน้า เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลง
ส่วนประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น นายกุลิศ ระบุว่า ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50 – 60% ตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง โดยการคำนวณอัตราการสำรองไฟฟ้านั้นจะต้องนำเอาเฉพาะไฟฟ้าหลักอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว มาคำนวณ โดยจะไม่ได้เอากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมาคำนวณด้วย เพราะกลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล