ผู้ถือหุ้น TOP ไฟเขียวออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติม 2 พันล.ดอลลาร์

ผู้ชมทั้งหมด 772 

ผู้ถือหุ้นไทยออยล์ เห็นชอบออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ รองรับการลงทุนตามแผน 5 ปี(ปี 2566-2570) ด้าน  ECO ลั่น ธุรกิจปิโตรเคมีปีนี้ฟื้นตัว

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในการประชุมสามัญผุ้ถือหุ้น ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 โดยระบุว่า ผู้ถือหุ้นฯ มีมติเห็นชอบแผนออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มเติม วงเงินรวมไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลาดำเนินการภายในปี 2570 เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 2566-2570) รวมถึงใช้สำหรับชำระหนี้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ปัจจุบัน บริษัทยังมีวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้เดิม เหลืออยู่ที่ 671 ล้านดอลลาร์ แต่ภายใต้แผนลงทุน 5 ปี บริษัทจำเป็นต้องจัดหาเงินเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯในครั้งนี้แล้ว บริษัทจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) เพื่อขออนุมัติเป็นครั้งๆ ในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้วงเงินดังกล่าวต่อไป

โดยในปี 2566 คาดว่า จะใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามแผน เมื่อโครงการเสร็จจะมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า แนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีในปีนี้ คาดว่า จะฟื้นตัวจากปีก่อนโดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศและดีมานด์ที่สูงขึ้น แม้ว่าในปี 2565 บริษัทจะรับรู้ผลขาดทุนจากการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 15% เนื่องจากในปีที่ผ่านมาตลาดปิโตรเคมีได้รับแรงกดดันอย่างมาก ทั้งด้านดีมานด์ที่ลดลง และสเปรดที่มีค่าต่ำกว่าปกติ รวมถึงซัพพลายใหม่จากประเทศมาเลเซียและจีน ส่งผลให้ CAP มีผลขาดทุน ทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 23 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 806 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจ้ง ผู้ถือหุ้นฯ ถึงกรณีบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เตรียมควบรวมกับบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO โดยเชื่อว่า จะไม่กระทบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่ม ขณะเดียวกันมองว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันในธุรกิจรีเทลเพิ่มขึ้นและยังเป็นโอกาสที่จะเกิด synergy ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศ