ผู้ชมทั้งหมด 1,367
ปัจจุบัน สถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จากการรวมตัวเลขเฉพาะหน่วยงานและบริษัทด้านพลังงานของไทยมีประมาณ 1,231 แห่ง ที่เปิดให้บริการ โดยยังไม่ได้รวมของค่ายรถยนต์ต่างๆ ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เรียกได้ว่าเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ได้เป็นอย่างดีว่าจะเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์สันดาป ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปัจจุบันผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อ้างอิงจากข้อมูลกรมขนส่งทางบก ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวนกว่า 36,775 คัน (อ้างอิงสถิติการจดทะเบียนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566) และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเริ่มเห็นค่ายรถยนต์จากประเทศจีนมาเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตได้ก็ต้องมีผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารองรับที่เพียงพอ เพื่อความสะดวก สบายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ลงทุนติดตั้งกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากดูจากตัวสถานีชาร์จรถ EV แต่ละบริษัท (ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2566) พบว่าสถานีชาร์จ EV Station Pluz ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ปัจจุบันมีจำนวน 200 แห่ง และมีเป้าหมายขยายให้ครบ 800 แห่ง สิ้นปี 2566 และ 7,000 แห่ง ภายในปี 2573
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ภายใต้แบรนด์ออน-ไอออน (on-ion) ปัจจุบันเปิดดำเนินการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้วทั้งหมด 53 แห่ง 430 หัวจ่าย โดยเน้นขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพนอกสถานีบริการ อาทิเช่น ศูนย์การค้า, โรงแรม, อาคารสำนักงาน และ ร้านอาหาร เป็นต้น ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และยังมีบริการติดตั้งเครื่อง EV Charger ตามที่พักอาศัยเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
ขณะที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็น บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ EV ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก โดยปัจจุบันเปิดให้บริการรวม 184 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนสายหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตร รองรับรถ EV ได้ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ
สถานีชาร์ชภายใต้แบรนด์ PEA VOLTA Station ของ กฟภ. ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งหมด 163 แห่ง โดยครอบคลุม 64 จังหวัด 130 อำเภอ มีหัวชาร์จให้บริการรวมทั้งหมด 593 หัวชาร์จ โดยตั้งเป้าในปี 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 150 แห่ง รวมเป็น 313 แห่ง ครอบคลุม 75 จังหวัด เพื่อครอบคลุมพื้นที่การบริการที่มากขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนสถานีชาร์แบรนด์ MEA EV Charging Station ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปัจจุบันมีสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และจ.สมุทรปราการ จำนวน 34 แห่ง 138 หัวชาร์จ
สถานีชาร์จแบรนด์ Elex by EGAT Station ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันมี 106 แห่ง ครอบคลุม 40 จังหวัด ในปี 2566 นี้ กฟผ. ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศให้มีจำนวนรวมกว่า 150 แห่ง ภายในปี 2566 เพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัดมากขึ้น โดยแต่ละสถานีมีระยะห่างกันไม่เกิน 100 กิโลเมตร สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ได้ทุกสถานี
สถานีชาร์จแบรนด์ EA ANYWHERE ขยายได้มากที่สุดปัจจุบันสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 491 แห่ง ครบคลุมทุกภาคของไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้บริการหัวชาร์จ 2 ระบบ แบบ Normal Charge และ Quick Charge รองรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกแบรนด์
สำหรับอัตราค่าบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละสถานีนั้นมีอัตราค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามการเปิดแข่งขันแบบเสรี แบรนด์ EV Station Pluz ช่วง Peak ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย สำหรับ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-22.00 น. และ ช่วง Off-Peak 4.5 บาทต่อหน่วย สำหรับ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.00
แบรนด์ PEA VOLTA Station ช่วง On Peak ราคา 7.9 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak ราคา 4.5 บาทต่อหน่วย แบรนด์ Elex by EGAT Station คิดค่าบริการ ช่วง On Peak ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย แบรนด์ EA ANYWHERE คิดค่าบริการช่วง On Peak ราคา 6.5 บาทต่อหน่วย แบรนด์ MEA EV Charging Station คิดค่าบริการช่วง On Peak ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย แบรนด์ออน-ไอออน คิดค่าบริการช่วง On Peak ราคา 7.25 บาทต่อหน่วย ชาร์จที่บ้าน TOU คิดค่าบริการช่วง On Peak ราคา 5 บาทต่อหน่วย ช่วง On Peak ราคา 2.6 บาทต่อหน่วย
ส่วนค่าบริการในการชาร์จไฟฟ้าของ “บางจาก” นั้น แบบหัวชาร์จ DC และ AC จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงพีค (09.00 น.-22.00 น.) ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย ส่วนช่วง ออฟฟีค ( 22.00 น.-09.00 น.) ราคา 4.15 บาทต่อหน่วย