BCPG มั่นใจ โครงการรฟ.พลังงานลม “มอนสูน” ใน ลาว รับเงินกู้งวดแรกจากแบงก์เอดีบี พร้อมลุยก่อสร้างเต็มสูบ

ผู้ชมทั้งหมด 578 

บีซีพีจี เผย โครงการพลังงานลม “มอนสูน” โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย รับเงินกู้งวดแรกจากแบงก์เอดีบีและกลุ่มธนาคารที่ร่วมสนับสนุน พร้อมเดินหน้าก่อสร้างเต็มรูปแบบ เชื่อมั่นเสร็จตามกำหนดภายในสิ้นปี 2568 ยันช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 750,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในฐานะที่บีซีพีจีเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนสูน”  ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป. ลาว ว่า ขณะนี้โครงการฯ ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี และกลุ่มธนาคารที่ให้การสนับสนุนผ่านเอดีบีเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้สัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) ในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการฯ ที่ได้ลงนามกับรัฐบาล สปป.ลาว และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ของโครงการฯ ที่ได้ลงนามกับการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) ได้มีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว

โดยโครงการฯ พร้อมรับเงินกู้งวดแรกตามสัญญาเงินกู้ และกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับ EVN ได้ในปี 2568 ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 25 ปี กับการไฟฟ้าเวียดนามอย่างแน่นอน

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนสูน” เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียในขณะนี้ และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ โดยโครงการฯ มีผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), ACEN Renewables International Pte. Ltd., Diamond Generating Asia, Limited (บริษัท ในกลุ่มของ Mitsubishi Corporation), Impact Electron Siam Co., Limited, STP&I Public Company Limited, SMP Consultation Sole Company Limited.

ทั้งนี้ โครงการ “มอนสูน” ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 750,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี จึงเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนและสนับสนุนภารกิจสำคัญในระดับโลก ที่จะ บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ในปี 2050 ขณะเดียวกันโครงการฯ ยังสร้างความเจริญให้กับสปป.ลาวในพื้นที่โดยรอบและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนพร้อมๆ กับเพิ่มศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสปป.ลาว เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้าน