ผู้ชมทั้งหมด 720
ทล. เผยมอเตอร์เวย์ M81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) งานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 90% ก่อนเปิดทดสอบ 3 เดือนปลายปี 67 คาดเปิดบริการเต็มรูปแบบ ม.ค. 68
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. กรมทางหลวง(ทล.) นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกรมทางหลวง
โดย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ระยะทางรวม 96.41 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 56,178 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการสําคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และเปิดประตูการค้าของภาคตะวันตกของไทยได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ระบบการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศไทยมีศักยภาพและแข่งขันกับนานาประเทศได้
ด้าน นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงระหว่างเมือง กล่าวว่า การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M81 มีทั้งหมด 25 ตอน ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธามีผลงาน ณ สิ้นเดือน มี.ค.66 รวม 90.211% ช้ากว่าแผน 5.6% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ100% จำนวน 14 ตอน ระยะทางรวมประมาณ 70 กม. ประกอบด้วยตอนที่ 5, 6, 7, 8, 10, 14, 15, 17, 18, 20, 21, 22, 23, 25
ส่วนอีก 11 ตอน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยตอนที่ 13 และ19 จะแล้วเสร็จสามารถส่งมอบได้ในช่วง เดือนก.ค. นี้ คาดว่า งานโยธาทั้งหมดจะแล้วเสร็จครบ 25 ตอนภายในเดือนม.ค. 67 ทั้งนี้ ทล.ได้ตั้งเป้าว่า จะเปิดทดสอบระบบให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่ในช่วงเดือนก.ย. 67 ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางภายในเดือน ม.ค. 68
นายธนศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบบริหารจัดการและควบคุมการจราจรนั้นจะดำเนินการในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน( PPP ) ซึ่ง ทล. ได้ลงนามในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) วงเงิน 27,828 ล้านบาท จำนวน 8 ด่าน และได้ส่งมอบพื้นที่แล้ว ปัจจุบันมีผลงาน ณ เดือนมี.ค. 66 รวม 13.62% ช้ากว่าแผน 4%
สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) จำนวน 3 แห่ง (1 สัญญา) วงเงิน 6,400 ล้านบาท แบ่งเป็น สถานบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง บริเวณอำเภอนครชัยศรี, อำเภอเมืองนครปฐม และสถานที่พักริมทาง (Rest Stop) จำนวน 1 แห่ง บริเวณอำเภอท่ามะกานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และจัดเตรียมเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ซึ่งจะมีแนวทางคล้ายกับที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพฯ–บ้านฉาง
ทั้งนี้ คาดว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ภายหลัง พ.ค. 66 ก่อนจะประกาศเชิญชวนประกวดราคา และขายเอกสารฯ ในช่วงไตรมาส 3/66 และเปิดประมูลได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มีแผนเปิดทดลองบริการพื้นฐาน ได้แก่ ห้องน้ำ ที่จอดรถ และร้านค้าบางส่วนภายในปี 67 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนม.ค. 68 ซึ่งเอกชนจะได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการเป็นเวลา30 ปี
อย่างไรก็ตาม ทล.อยู่ระหว่างการประเมินว่าจะเปิดทดลองให้บริการชั่วคราวมอเตอร์เวย์ M81 ในตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตอนที่ 17-23 ระยะทางประมาณ 30 กม. ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ในช่วงปีใหม่ 67 หรือไม่ โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัย และปริมาณความต้องการของผู้ใช้ทางเป็นหลัก ซึ่งบริการดังกล่าวจะคล้ายกับการเปิดให้บริการทดลองใช้ชั่วคราว มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงปากช่อง–สีคิ้ว–ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กม. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร
รายงานข่าวจาก ทล. ระบุว่า มอเตอร์เวย์ M81 รูปแบบโครงการเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 ถึง 6 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 96 กม.มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ด้านตะวันตก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จุดสิ้นสุดอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี–อ.พนมทวน) ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี
โดยในแนวเส้นทางมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง ได้แก่ ด่านบางใหญ่ ด่านนครชัยศรี ด่านศรีษะทอง ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก ด่านท่ามะกา ด่านท่าม่วง และด่านกาญจนบุรี มีที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 3 แห่ง แบ่งออกเป็น สถานบริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง ที่ อ.นครชัยศรี และ อ.เมืองนครปฐม และสถานที่พักริมทาง จำนวน 1 แห่ง ที่ อ.ท่ามะกา
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่–กาญจนบุรี จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมระบบการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศไทยให้มีความทันสมัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของประเทศโดยรวม พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ และเป็นเส้นทาง เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ