กฟผ. ผนึก USTDA ศึกษาโครงการรฟ.พลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ

ผู้ชมทั้งหมด 894 

กฟผ. จับมือ USTDA ร่วมศึกษาความเหมาะสมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ เดินหน้าพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ สร้างความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 นายโรเบิร์ต เอฟ โกเดค (Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency: USTDA) และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ลงนามร่วมศึกษาความเหมาะสมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดของประเทศไทย ส่งเสริมนโยบายสากลในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย

นายโรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการด้านพลังงานที่มีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยมลพิษ และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality โดยการสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบทุนให้เปล่า สำหรับการศึกษาความเหมาะสมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จะช่วยให้ประเทศไทยนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอีกด้วย

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง USTDA และ กฟผ. ในการศึกษาความเหมาะสมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับยังถือเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพ ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้า และเสริมสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization)

ทั้งนี้ กฟผ. ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) เดินหน้าใช้พลังงานสะอาดและตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

นางสาวอีโนห์ ที. อีบอง (Ms. Enoh T. Ebong) ผู้อำนวยการองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (USTDA) กล่าวว่า USTDA และ กฟผ. ร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ซึ่งการสนับสนุนโครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับร่วมกัน

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วนคือ อ่างเก็บน้ำตอนบน และอ่างเก็บน้ำตอนล่าง น้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนบนจะถูกปล่อยลงมาเพื่อผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเร่งด่วน โดยในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือน้อยลง จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือในระบบจ่ายให้กับปั๊มน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่างกลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำตอนบนเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป