กทพ. เปิดแผนลงทุน และความคืบหน้าทางด่วน 10 โครงการ มูลค่ารวม 3.68 แสนล้าน  

ผู้ชมทั้งหมด 878 

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัจจุบันให้บริการทางพิเศษ (ท่างด่วน) 8 สายทาง รวม 224.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10 สายทาง มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 368,551 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าตามสัญญาดังนี้

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 21.14% สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 มีความคืบหน้า 64.90%

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนองมีความคืบหน้า 22.29% สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาว 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ มีความคืบหน้า 99.21% ส่วนสัญญาที่ 5 อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) งานจ้างระบบจักเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกฯ คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการสะพานคู่ขนาดสะพานพระราม 9 ประมาณกลางปี 2567 แล้วเปิดให้บริการทั้งเส้นทางในเดือนธันวาคม 2567  

2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สานเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) กรอบวงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ. ได้นำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนำเรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการ โดยจะเป็นโครงการแรกที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลใหม่

ส่วนระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) กรอบวงเงินลงทุนรวม 31,747 ล้านบาท โดยแนวทางการก่อสร้างนั้นได้มีการปรับแบบเป็นอุโมงค์รอดใต้แยกเกษตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากทางพิเศษศรีรัชที่บริเวณแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรผ่าน ม.เกษตรฯ และยกระดับเชื่อมต่อกับทางพิเศษตอน N2

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ และมีกำหนดการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 พร้อมนำเสนอรายละเอียดโครงการ และรูปแบบการก่อสร้างในวันที่ 5 เม.ย. 2566

3.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีระยะทางระยะทาง 16.21 กิโลเมตร (กม.)

โดยมีจุดเชื่อมต่อบริเวณจุดสิ้นสุดทางพิเศษฉลองรัช (ด่านจตุโชติ) ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) มุ่งหน้าทิศตะวันออกผ่านถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ โดยสิ้นสุดถนนลำลูกการะหว่างคลอง 9 กับคลอง 10 โครงการนี้มีกรอบวงเงินลงทุนรวม 24,060 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง)  3,727 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 20,333 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการส่วนต่อขยายทางพิเศษช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกาคาดว่าจะสามารถประกาศเชิญเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการได้ประมาณเดือน พ.ค. 2566 และคาดว่าจะประกาศผลได้ปลายปีนี้ เริ่มก่อสร้างต้นปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง36 เดือน แล้วเสร็จปลาย ปี 2569 พร้อมเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2570 

4.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวสายทางของทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระยะทาง 17 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 34,028 ล้านบาท ปัจจุบันกทพ. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการมีความคืบหน้า 73.54% คาดว่าจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนนี้

5.โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 21,892 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ คาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ในเดือนพฤษภาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการนี้ กทพ.มีแผนที่จะเจรจากับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้มาร่วมลงทุน เนื่องจากมองว่าเป็นโครงการที่เชื่อต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวก สบายในการเดินทางของผู้โดยสาร

6.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-จังหวัด สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโครงการบน ทล.35 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัด สมุทรปราการ มีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับโครงข่าย MR10 (ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ด้านทิศตะวันออก) ระยะทาง 71.60 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 109,250 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ

7.โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 14,670 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เพื่อร่วมการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนในวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งผู้ว่ากทพ. มั่นใจว่าจะมีผู้มายื่นข้อเสนอแน่นอนแม้ค่างานก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนการลงทุนลดลงก็ตาม

8.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการที่เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 35,800 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม โครงการผลการดำเนินงาน 70.96% นายสุรเชษฐ์ ระบุว่าจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2566 และคาดว่าจะสามารถนำเสนอครม. ได้ปลายปีนี้ ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามแผนก็คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทั้งเส้นทางได้ภายในปี 2570

9.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 20 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมในเบื้องต้นอยู่ที่ 33,900 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ในเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ต้องทบทวนกรอบวงเงินลงทุนใหม่ เนื่องจากว่าต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้น ขณะเดียวกันการก่อสร้างต้องใช้เทคโนโลยีที่แพง

10.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ระยะทาง 6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้ กทพ. ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กทพ.ได้ประสานขอข้อมูลจาก ทช. เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งในขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขต TOR เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ