ผู้ชมทั้งหมด 775
กระแสส่งเสริมรถเมล์ไฟฟ้ามาแรง กลายเป็นนโยบายหลักในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 33 เขตในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ละพรรคมีแนวคิดในการเดินทางไปยังศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง สถานที่รับสมัครเลือกตั้ง เพื่อสร้างสีสันพร้อมกับประกาศนโยบายของพรรคไปในตัว แต่ปรากฏการณ์ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.จากหลายพรรคทำเหมือนกัน คือเดินทางมาสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยรถบัสพลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และพรรคไทยสร้างไทย โดยพรรคใหญ่เหล่านี้ล้วนชูนโยบายส่งเสริมสนับสนุน กทม.เน้นขับเคลื่อนมวลชนด้วยรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำลังเข้าขั้นวิกฤต
นโยบายดังกล่าวกลายเป็นกระแสนิยมของนักการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง ย้อนไปสมัยที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพพมหานคร ก็ปล่อยขบวนหาเสียงด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ตามแนวคิด “หาเสียงแบบรักเมือง” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าใน กทม. ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างยั่งยืน เพื่อสร้าง กทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่ จนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาแล้ว ทั้งยังมีนโยบาย smart city ส่งเสริมรถไฟฟ้าทั้งภายในหน่วยงานของ กทม. และภาคขนส่งมวลชน พร้อมตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะภายใน 4-5 ปี
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX กล่าวว่า ภูมิใจที่พรรคการเมืองต่างๆติดต่อเพื่อนำรถบัสพลังงานไฟฟ้า NEX-MINEBUS ไปใช้ในการเดินทางรับสมัครเลือกตั้ง และนำไปใช้หาเสียง รู้สึกดีใจที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดมลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ในปีนี้ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตหนักอีกครั้ง ส่วนตัวมองว่าการใช้รถ EV ในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เท่ากับว่าเป็นการประกาศนโยบายของพรรคว่าจะสนับสนุนให้คนกรุงฯมีระบบการขนส่งมวลชนที่เป็นไฟฟ้าทั้งหมด และไม่ใช่เฉพาะรถโดยสารขนส่งสาธารณะเท่านั้น ต่อไปรถต่างๆไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถบัส รถตู้ รถบรรทุก รถขยะ หรือรถจักรยานยนต์จะต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อเป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาศ และลดมลภาวะเป็นพิษด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ