ผู้ชมทั้งหมด 738
สนพ.เผย ประเทศไทยผ่านพ้น อัตราค่าไฟฟ้าแพงสุดเป็นประวัติการณ์ในงวด ม.ค.-เม.ย.2566 ที่แบ่งเป็น 2 อัตรา กลุ่มบ้านอยู่อาศัย เฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยไปแล้ว ลั่นงวดที่เหลือของปีนี้ จะทยอยปรับลดลงตามทิศทางราคา LNG ขณะที่แหล่งเอราวัณ มีกำลังการผลิตก๊าซฯเพิ่ม คาดปีนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แตะระดับ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ มั่นใจมีกำลังผลิตเพียงพอ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่แบ่งเป็น 2 อัตรา คือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิอุตสาหกรรม บริการ อื่นๆ) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเห็นว่า อัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศได้ทยอยปรับลดลงแล้วตั้งแต่งวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ที่กลับมาเป็นอัตราเดียว เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย และในงวดถัดไป หรือ งวดที่เหลือของปีนี้ คาดว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) ก็จะปรับลดลง ซึ่งปัจจุบันก็ลดลงมากขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มจะลดลงอีก เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ(G1) ซึ่งตามข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า กำลังการผลิตก๊าซฯในเดือน ก.ค.นี้ จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือนธ.ค.2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นในเดือนเม.ย.2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)
ส่วนแนวโน้มการใช้พลังงานภาพรวมของประเทศในปี 2566 จะเติบโตขึ้นจากปี 2565 ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา และการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นได้จากปี 2565 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ระดับประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าช่วงยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่(พีค) อยู่ที่ในระดับ 32,000 เมกะวัตต์ และปีนี้ ก็เกิดพีคเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 เวลา 15.43 น. ที่ระดับ 31,054.6 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น การฟื้นตัวของภาคบริการ ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
“ปีก่อนพีคในระบบ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 34,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่น่าจะมีประเด็นน่ากังวล เพราะสำรองไฟฟ้าเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้ และในเดือนก.ค.นี้กำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยก็จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน คลังรับ-จ่าย LNG (เทอร์มินอล) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) ของปตท.ก็สร้างเสร็จแล้ว พร้อมรองรับ LNG เพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านตันต่อปี ประกอบกับราคา LNG ช่วงนี้อ่อนตัว เหลืออยู่ที่ประมาณ 12-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู”
ส่วนแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับ กลุ่มเปราะบาง ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน รอบที่ 2 นั้น เบื้องต้น อยู่ระหว่างการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และช่วงนี้ก็เป็นรัฐบาลรักษาการ อาจจะมีเรื่องของงบประมาณกลางต่างๆ ก็น่าจะนำมาช่วยเหลือได้ แต่คงต้องพิจารณาวิธีการที่เหมาะสม คาดว่า ถ้าจะต้องอุดหนุนในรอบบิล พ.ค.-ส.ค.2566 น่าจะต้องใช้งบประมาณใกล้เคียงกับรอบก่อน เต็มที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งก็มีทั้งการใช้งบประมาณกลางและเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่น่าจะนำเข้ามาใช้ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือ ผู้มีรายได้น้อยได้ โดยในส่วนของบัตรสวัสดิการฯ ก็มีการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 350 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ สนพ. ได้คาดการณ์ “แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566” โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า ภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้น 0.7% จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมัน จะเพิ่มขึ้น 4.6% โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้น 1.8% การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า จะเพิ่มขึ้น 4.4% สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานนั้น สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะอยู่ที่ 80.0 – 90.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2566 จะอยู่ที่ 32.2 – 33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.6% และเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร