จุฬาฯ – กฟผ. ร่วมวิจัยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าเป็นเมทานอล

ผู้ชมทั้งหมด 944 

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสักขีพยานการลงนามสัญญารับทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเรื่อง “การศึกษาการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเมทานอลด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันโดยตรงของคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจากอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า” (Study of Direct Hydrogenation of CO2 to Methanol for decarbonization from flue gas of power plant)โดยมีนายนรินทร์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. และนายโสภณ พิฆเนศวร  รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) ร่วมลงนาม ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กฟผ. ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศ มีความมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตและส่งไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อส่งมอบพลังงานสะอาด ภายใต้การรักษาความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงการนี้ และใช้ประโยชน์จาการ์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization : CCU) ที่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ สู่อุปกรณ์ต้นแบบสำหรับทดลองกับโรงไฟฟ้า กฟผ. เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยสำคัญในครั้งนี้จะช่วยจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของ กฟผ. เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นเมทานอลด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันโดยตรง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาต่อยอดสู่ระดับที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและโลกต่อไป

กฟผ. กำหนดนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ภายในปี 2608 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย 1) S-Sources Transformation นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า 2) S-Sink Co-creation เดินหน้าโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ 3) S-Support Measures Mechanism ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ