ผู้ชมทั้งหมด 1,227
PTT ผลงานปี 64 ฉายแววเด่นกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นฟื้นตัว ราคาน้ำมันหนุน คาดทิศทางปีนี้เฉลี่ยในระดับ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปี 64 อัดงบลงทุน 8.5 แสนล้านบาทลุยคลัง LNG ท่อก๊าซเส้นที่5 ลงทุนแหล่งก๊าซฯ พร้อมลุยขยายลงทุนธุรกิจใหม่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT (ปตท.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 แนวโน้มธุรกิจของกลุ่ม ปตท.เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่นที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่มผลิตภัณฑ์ HDPE ประเมินราคาของปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 950-1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนราคา PP คาดเฉลี่ยในระดับ 1,100 – 1,150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลกของปี 2564 จะเติบโตในระดับ 5.5% ส่วนประเทศไทย IMF ได้ประเมินว่าจะเติบโตในระดับ 2.7% อย่างไรก็ตามปตท.จะต้องติดตามประเมินการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัจจัยด้านอื่นที่จะกระทบด้วย
ส่วนแนวโน้มราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปีนี้ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าราคา BZ จะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 650 – 700 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนราคา PX เฉลี่ยในระดับ 700-750 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีภาวะสินค้าล้นตลาด และอุปทานใหมที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันการเพิ่มขึ้นของราคา
ขณะที่แนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.5 หรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามค่าการกลั่นของกลุ่มปตท. โดยปกตินั้นจะเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่าตลาดสิงคโปร์ ทั้งนี้ตามรายงานของ IHS ณ เดือน ม.ค.64 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 64 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 96.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายหลังจากทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกัน
ทั้งนี้จากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นยันเป็นปัจจัยหนุนต่อบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ด้วย อย่างไรก็ตาม PTTEP มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มเป็น 72% ในปี 2568 จากปัจจุบันอยู่ที่ 67% ที่เหลือเป็นสัดส่วนการผลิตปิโตรเลียม ทั้งนี้เพื่อลดปัจจัยเสียงต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในอนาคต
ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC นั้นมีทิศทางเติบโตตามการขยายการลงทุน โดยในอนาคตจะขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ผ่าน บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยมีเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 4.3 GW ภายในปี 2568 และทั้งกลุ่มปตท. มีเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 ขณะที่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการขยายสถานีบริการน้ำมัน และขยายธุรกิจ Non-Oil ส่วนรูปแบบการขยายการลงทุนก็จะเน้นการขบยายการลงทุนตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทีเปลี่ยนแปลไป
สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 2564-2568) ของกลุ่ม ปตท. เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 804,202 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนการลงทุนของ PTTEP ที่ลงทุนในการหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ และเป็นการขยายการลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมี และโรงกลั่น
รวมถึงใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจใหม่ด้วยการรุกธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต การต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) ตั้งแต่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซธรรมชาติ สู่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จนถึงธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเป็นการขยายการลงทุนของธุรกิจไฟฟ้าของ GPSC รวมถึงขยายการลงทุนในธุรกิจยา และการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกของ OR
อย่างไรก็ตามหากแบ่งเป็นการลงทุนเฉพาะปตท.และบริษัทที่ปตท. ถือหุ้น 100% ก็จะใช้เงินลงทุนราว 130,267 ล้านบาทขยายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) โครงการโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 โครงการท่อก๊าซฯบนบกเส้นที่ 5 และ มี Provisional Capital Expenditure ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีกราว 330,000 ล้านบาท