ผู้ชมทั้งหมด 768
CEO ปตท. แนะรัฐบาลวางนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปฯตีคู่ขนานส่งเสริมรถ EV พร้อมเสนอปั่น จ.ระนอง เป็นท่าเรือขนาดใหญ่เชื่อมระบบราง รองรับส่งออกสินค้าฝั่งทะเลอันดามันเข้าสู่จีนตอนกลาง ลั่นระหว่างเจราพาร์ทเนอร์จัดตั้งโรงงานทำแบตเตอรี่แพ็คกิ้ง แย้ม มิ.ย.นี้ OR เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่น เจาะตลาดนิช มาร์เก็ต นำสินค้าจำหน่ายพร้อมอัดโปรโมชั่น ดึงคนเข้าใช้บริการ
สัมมนา “New Era Economy อนาคตใหม่ประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 โดยเครือ “ประชาชาติธุรกิจ” และ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” เนื่องจากเห็นว่า ปี 2566 คือปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศ หลังก้าวออกจากวิกฤตโรคระบาด ธุรกิจทั่วโลกกําลังเผชิญความท้าทายที่สุดจากปัจจัยรอบด้าน จึงได้จัดสัมมนาฯดังกล่าว เพื่อระดมความเห็น และมุมมองที่เป็นประโยชน์จากเหล่าผู้บริหาร จากหลากหลายองค์กร
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในเวทีดังกล่าว โดยระบุว่า ประเทศไทย เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบระยะสั้นที่คือเรื่องของต้นทุนราคาพลังงาน แต่ระยะยาวจะทำให้คนตระหนักถึงซัพพลายเชน เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะเห็นเรื่องของการย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้น 2.เรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยก็เผชิญมานานแล้ว ซึ่งไทยยังขาดเรื่องการพัฒนาคนและนวัตกรรม 3.ความเท่าเทียม ก็ต้องมีเรื่องของนวัตกรรม ดิจิทัล และที่สำคัญต้องอาศัยความจริงใจของไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม 4.เรื่องสังคมผู้สูงอายุ 5.เรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบหลีกเลี่ยงไม่ได้และปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฎหมายบังคับใช้มากขึ้น เช่น การกีดกันทางการค้า 6.เรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ ก็เป็นที่ทราบดีเกี่ยวกับปัญหาสถานการเงินล้มในสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มมีผลกระทบส่งผ่านไปยังธุรกิจต่างๆ เช่น สตาร์ทอัพ เคยเป็นยุคทองเมื่อ 3-5 ปีก่อน แต่พอสภาพคล่องโลกหายไป คนที่จะใส่เงินลงทุนเข้าไปในสตาร์ทอัพเริ่มคิดมากขึ้น ก็จะเป็นความท้าทายของสตาร์อัพ เพราะระบบคัดกรอกการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพจะเข้มงวดมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย ได้กำหนดทิศทางมุ่งสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 12 S-Curve ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล 5อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอีก 2 อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมา คือ 1อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ2.อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญคือ จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การลงทุนทั้ง 12 อุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากไทยอยู่บนฐานอุตสาหกรรมเดิมมานานหลายปี ซึ่งหากจำได้สมัยเกิดน้ำท่วมประเทศไทย ปี 2554 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทั่วโลก เพราะไทยผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ใหญ่สุดของโลก แต่ปัจจุบันฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยกเลิกการใช้ไปแล้ว ก็เป็นภาพให้เห็นว่า ฐานอุตสาหกรรมเดิมของไทยควรจะต้องปรับและยักระดับ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันแนวโน้มการใช้พลังงานของโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด และก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะปัญหาโลกร้อนทำให้ทั่วโลกตระหนักเรื่องการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ของแต่ละประเทศ ฉะนั้น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้ง 3 ประเภท คือ ถ่านหิน ก็มีคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้สูงสุด(พีค) ในปี 2568 ,น้ำมัน ก็คาดว่าจะพีกในช่วงปี 2577-2578 และก๊าซฯ จะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีนอนาคตการเติบโตได้อีกมาก และมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่พลังงานหมุนเวียน จะเติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 12 S-Curve ดังกล่าว ปตท.ได้นำมาปรับแผนการลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อน New Economy ของประเทศ คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ Future Energy ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.พลังงานหมุนเวียน 2.ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) 3.ยายนต์ไฟฟ้า(EV) และ4.ไฮโดรเจน
ส่วน Beyond ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม 1.Life Science 2.Mobility & Lifestyles 3. High Value Business 4. Logistics & Infrastructure และ 5. AI, Robotics & Digitization ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นอนาคตของประเทศ
สำหรับ การลงทุนด้าน Future Energy ในเรื่องธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกจะกำหนดกติกาต่างๆเข้ามาบังคับให้ทุกประเทศต้องดำเนินการเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยการผลิตและอุตสาหกรรมที่จะต้องส่งออก จะเผชิญกับการตั้งเงื่อนไขกำแพงภาษี ที่ต้องการตรวจสอบที่มาของสินค้าที่จะต้องสะอาดทั้ง Value Chain ฉะนั้นไฟฟ้าก็ต้องสะอาดและพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญมาขึ้นเรื่อยๆ
โดยประเทศไทย ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกัน กว่า 4,000 เมกะวัตต์ แต่เมื่อไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050 ทำให้ไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ภายในปี ค.ศ.2050 จากปัจจุบัน ประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ฉะนั้น พลังงานหมุนเวียน จะต้องเพิ่มขึ้นไปถึง 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2050 ก็ถือเป็นความท้าทายและก็เป็นโอกาสสำหรับการลงทุน
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) โดยจะขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจะต้องมีเรื่องของพัฒนาสมาร์ทเอนเนอร์ยีแพลตฟอร์ม และสมาร์ทกริด เข้ามาร่วมบริหารจัดการให้พลังงานหมุนเวียนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านธุรกิจ EV Value Chain ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้รถยนต์อยู่ 43 ล้านคัน เป็นรถEV ประมาณ 30,000 คัน แต่ในช่วงปี 2564-2565 แนวโน้มการเกือบ 200% และมีการจัดอัดดับให้ประเทศไทย เป็นประเทศมีศักยภาพและผลิตรถEV อันดับที่ 9 ของโลก เพราะไทยมีฐานอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปตท.ขอนำเสนอให้ประเทศไทยขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมควบคู่ระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปพร้อมกับยานยนต์แห่งอนาคตอย่างรถ EV
“มุมมองของผมเอง จากบางธุรกิจเช่น กล้องฟิล์มเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัล คือ เกิดการ Disrupt แต่รถยนต์ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะคนไทยใช้รถเฉลี่ย 5-6 ปี ฉะนั้น อุตสาหกรรมเดิม จะต้องทำตัวเองให้เป็นคนสุดท้ายที่อยู่รอดในอุตสาหกรรม และโรงงานของเราต้องเป็นที่สุดท้ายในโลก โดยที่รัฐบาลจะต้องหานโยบายเข้ามาสนับสนุน เพราะเมื่อความต้องการใช้มันลดลง โรงงานจะต้องถูกปิด แต่จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นโรงงานสุดท้ายของโลก ปิดที่อื่นแต่ยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ฉะนั้นเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานเดิมเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐบาลก็อาจต้องไปคิดนโยบายว่าจะทำอย่างไรให้ตีคู่ขนานกับการขึ้นมาของโรงงาน EV ได้ ซึ่งEV รัฐบาลก็มีนโยบาบแล้ว 30@30”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ EV Value Chain มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่วัสดุที่เป็นรถ ไม่จำเป็นแค่เหล็ก ในส่วนของปิโตรเคมีเองก็เข้ามาเป็นส่วนประกอบได้เช่นกัน ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับโรงงานผลิต และเรื่องของแบตเตอรี่ Value Chain ก็มีขนาดใหญ่ ซึ่งไทยอาจจะเหนื่อยเรื่องการทำเซลล์แบตเตอรี่ เพราะไม่มีวัตถุดิบ และเมื่อทำเป็นเซลล์แล้ว ก็ต้องทำเป็นแพ็ค เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และ ปตท.ก็อยู่ระหว่างหารือกับพาร์ทเนอร์อยู่ในการทำโรงงานทำแบตเตอรี่แพ็คกิ้ง
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแอพพลิเคชั่น EV me ให้ทดลองเช่าใช้งานรถEV ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วมาก หลังจากปตท.ได้จัดตั้ง EV me ซึ่งมีรถอยู่ 500 คัน มีอัตราการเช้าสูง 80% ส่วนเรื่องของ EV Charging Station จะต้องขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยบริษัทลูกของ ปตท. คือ OR มีเป้าหมายจะขยายการติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ เพื่อให้รถEV วิ่งได้ทั่วประเทศไทย
และการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจน ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด เพราะหากจะดำเนินการในขณะนี้ก็ถือว่ายังคุ้มทุน
ส่วนการลงทุนด้าน Beyond ในเรื่องของธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ชัดเจนว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 20% ซึ่งรัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการ แต่ก็จะตามมาด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยปตท. จะมุ่งเน้นการลงทุนไปใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ธุรกิจยา (Pharmaceutical) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นแค่โรงงานประกอบ อัดเม็ด หรือ บรรจุขวดเป็นส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าหัวเชื้อยา(API) ฉะนั้นอนาคตของประเทศไทยควรจะต้องมีการลงทุน หรือพัฒนาโรงงาร API ให้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานวิจัยฯ ของประเทศไทย ก็อยู่ในระดับที่มีศักยภาพ แต่ยังต้องอาศัยภาคธุรกิจเข้าไปช่วยยกระดับ ก็จะเกิดการพัฒนาขึ้นได้มา และปัจจุบันเอง ปตท.ก็มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น จุฬาฯ , สวทช.และองค์การเภสัช เป็นต้น
2.โภชนาการ(Nutrition) ก็มุ่งไปที่พวก Food ก็จะเป็นพวก Plant-based หรือ อาหารที่มาจากพืช โดยปตท.มีการก่อสร้างโรงงาน Plant-based ระดับโลก คาดว่าจะภายในปี 2567 ก็จะสามารถป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหารต่าง
และ3.เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology)ก็ต้องไปดูว่าประเทศไทย มีบางวัสดุที่ไม่ได้ลงทุนต้นน้ำก็อาจจะเสียเปรียบ เช่น ตอนเกิดโควิด-19 หน้ากากอนามัย โรงงานผลิตของไทยต้องนำเข้าแผ่นกรอง 100% ฉะนั้น ปตท.ก็เห็นช่องว่างในจุดนี้ จึงได้ลงทุนโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการผลิต และโรงงานดังกล่าวได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังสามารถต่อยอดเป็นหน้ากากใน วัสดุสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งจุดนี้ก็จะเสริมนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub
ด้านธุรกิจ Mobility & Lifestyles ก็ชัดเจนว่า จะเห็นเทรนด์ของการแชร์ริ่งอีโคโนมีมากขึ้น และมีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงมากขึ้น และโลกของดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเป็นโลกของปลาตัวใหญ่ที่ว่ายน้ำเร็ว ทำให้หลายแอพพลิเคชั่นล้มหายตายจาก และแอพพลิเคชั่นใหญ่ต้องมีสายป่านยาวที่จะอยู่รอดได้ ฉะนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม คือ แอพฯใหญ่ๆเริ่มน้อยลง ดังนั้น คนที่จะอยู่รอดได้จะต้องหาตลาดนิช มาร์เก็ต ยกตัวอย่างเช่น ปั๊มน้ำมันเป็น physical platform เข้าไปแล้วมีบริการที่ครบ แต่ก็จะต้องเชื่อมโยงกับดิจิทัล ผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีแอพฯที่เป็นนิช ซึ่ง ปตท.เอง หากจะหาแพลตฟอร์มที่ไม่แข่งกับ Alibaba คงเป็นไปได้ยาก ก็ต้องหาตลาดเฉพาะกลุ่มให้เจอ เพราะฉะนั้น ก็จะมีแอพฯ ที่เป็นนิช มาร์เก็ต ออกมาที่เป็น Ecosystem ของ OR ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะมีสินค้าและโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการผ่านแอพฯดังกล่าว
ส่วนธุรกิจ High Value Business ก็จะเดินหน้าเพิ่มความหลายหลายการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีให้มากขึ้น และทำเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม Specialty ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจ Logistics & Infrastructure ซึ่งการลงทุนระบบร่างจากจีนเชื่อมไปลาว ก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมองว่าในส่วนของไฮสปีดยังไม่จำเป็น แต่ในเรื่องของระบบร่างยังมีปัญหาจากลาวไปถึงจีนไม่เท่ากัน ซึ่งก็เริ่มพูดคุยย้ายจุดคอนเทนเนอร์ของรถไฟเพื่อแก้ไขปัญหาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และประเทศไทยมีข้อได้เปรียบการลงทุนสินค้า ซึ่งหากต้องการส่งออกในปริมาณมากแต่จีน โซนน้ำลึก หรือเข้ามาทางตะวันตก จะใกล้ทะเลในส่วนของประเทศไทย มากกว่าฝั่งจีน ฉะนั้นคือจุดที่ไทยควรจะพิจารณา
ดังนั้น ข้อเสนอเพื่อพิจารณาเป็นนโยบายรัฐบาล ไทยลงทุนเรื่องรางคู่ ทำระนองให้เป็นท่าที่ใหญ่และเชื่อมราง เพราะฉะนั้นก็จะเชื่อมทะเลอันดามันเข้าสู่จีนได้เลย โดยเฉพาะจีนตอนกลาง ซึ่งทางนี้จะประหยัดค่าขนส่งได้มาก ก็เป็นข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยควรเร่งลงทุน ส่วนจะเชื่อมทางน้ำ ทางรางทางอากาศ ก็ดำเนินไป
ขณะที่ธุรกิจ AI, Robotics & Digitization ประเทศไทย ถือว่ามีพื้นฐานการใช้ดิจิทัลที่ดีเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน ก็จะเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะ AI, Robotics ถ้าอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม แต่โลกทางกายภาพยังอยู่ การผลิตจึงต้องมีอยู่แต่จะต้องฉลาดขึ้น อัจฉริยะมากขึ้น และสุดท้ายจะต้องเชื่อมกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ฉะนั้นการนำ AI ใส่เข้าไปในเครื่องจักรถือเป็นเรื่องที่สำคัญ การทำให้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรฉลาดมากขึ้นจะเป็นอนาคต ซึ่งกลุ่ม ปตท.ก็มีการเข้าไปลงทุนในหลายด้าน และก็เป็นอนาคตของประเทศด้วย เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ไม่สามารถทำให้สมาร์ทผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของโดรนอัจฉริยะที่เข้าไปช่วยโปรยยาฆ่าแมลง แต่ว่าโดรนจะโปรยได้ จะต้องคำนวนสภาพอากาศและช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ ดังนั้นโลกในอนาคต AI จะต้องผนวกกับ Robotics ที่มีโรงงานหลายขนาด
“สุดท้ายนี้ เรื่องของการทำสิ่งใหม่ๆ การทำสิ่งที่ท้าทายในประเทศที่เราเจออยู่ หรือที่ทั่วโลกกำลังเจออยู่ แน่นอนวันนี้ ต้องเผชิญกับ 3 ด้าน คือ Technology (เทค) ,Capital(ทุน) และ Talent (คน) แต่ผมว่า 3 อย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราขาด ก็คือ Passion and Purpose เราต้องมี Passion ในการขับเคลื่อน ต้องมี Passion ในการที่จะเปลี่ยนแปลง เราต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เราถึงจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายอรรถพล กล่าว