“ไทยออยล์” ชี้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันวิกฤตสถาบันการเงิน ความไม่แน่นอนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

ผู้ชมทั้งหมด 1,095 

ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (20 – 24 มี.ค. 66) จะได้รับแรงกดดันจากำวิกฤตสถาบันการเงิน และความไม่แน่นอนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีความผันผวนต่อเนื่อง และจะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของวิกฤตสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลก และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่คาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 21 – 22 มี.ค. 2566 เพื่อชะลอผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหากับธนาคาร SVB และ Signature ตลาดคาด FED มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0-0.25% เท่านั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะมากขึ้นต่อเสถียรภาพของตลาดการเงิน และอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ก.พ. 2566 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น จากผลกระทบต่อธนาคาร SVB และ Signature ของสหรัฐฯ รวมถึง ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจจะลุกลามไปยังธนาคารอื่น อาทิเช่น  เครดิต สวิส โดยล่าสุดแม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเข้าแทรกแซงในการออกมาตรการคุ้มครองเงินฝากและจัดตั้ง โครงการ Bank Term Funding Program สำหรับธนาคารสหรัฐฯ แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Moody ยังคงมีมุมมองเชิงลบ ต่อระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ

โดยล่าสุดแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำการปล่อยกู้กว่า 50 พันล้านสหรัฐฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องกับ เครดิต สวิส แล้วและพร้อมเข้าแทรกแซงหากมีความจำเป็น เนื่องจากธนาคารดังกล่าวมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิสเซอร์แลนด์และมีเครือข่ายมากมายในตลาดยุโรปและอังกฤษ

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันยังมีแนวโน้มเติบโตในปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันและความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยการเติบโตหลักน่าจะมาจากจีน โดยในรายงานประจำเดือน มี.ค. 2566 สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ยังเติบโตในระดับสูงกว่า 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการเติบโตมากกว่าครึ่งคาดการณ์ว่าจะมาจากจีน หลังเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในหลายภาคส่วนตั้งแต่กลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ OPEC และ EIA ที่มองว่าความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงเติบโต

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเร่งกำลังการผลิตในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 15.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและคาซัคสถาน คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังล่าสุดได้มีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ของการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light หลังก่อนหน้านี้เกิดเหตุระเบิดและกระทบกับท่อขนส่งน้ำมัน ขณะที่ ปริมาณการผลิตของคาซัคสถานเริ่มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ หลังเกิดเหตุสุดวิสัยกระทบต่อแหล่งผลิต

ส่วนเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ  การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 21 – 22 มี.ค. 2566 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 2566 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ