ผู้ชมทั้งหมด 641
GPSC งัดกลยุทธ์ 4S ลุยพัฒนาพลังงานสะอาด สร้างนวัตกรรมผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ แก้ปัญหาโลกร้อน หวังรัฐ “เปิดตลาดไฟฟ้าเสรี” สร้างการแข่งขันลดต้นทุนค่าไฟ ด้าน OR เร่งเครื่องแสวงหาธุรกิจใหม่ ดันสัดส่วนEBITDA ราว 20%ในปี 2573
ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยในเวที Tech Talk หัวข้อ Panel Discussion: Innovation Strategy of PTT Group ที่จัดขึ้นใน PTT Group Tech & Innovation Day ภายใต้แนวคิด “Beyond Tomorrow : นวัตกรรม นำอนาคต” ของกลุ่ม ปตท. โดยระบุว่า ปัญหา Climate Chang เป็นโจทย์ระดับโลก ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งหลายประเทศก็มุ่งความสำคัญไปที่พลังงานสะอาด เช่น การลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและแบตเตอรี่ ดังนั้น ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญมากกว่า 80% และแบตเตอรี่จะเข้ามาเสริมศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้กับพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงขึ้นนั้น จะเห็นว่า ค่าไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะในแถบยุโรป แต่ในประเทศจีน และอินเดีย จะมีค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าไทยเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลและมีพื้นที่การติดตั้งหรือการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่เรื่องการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันต้นทุนค่าไฟฟ้า และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ซึ่งประเทศไทยเองในอนาคตก็ควรมุ่งไปที่ทิศทางดังกล่าว
สำหรับ GPSC ได้ว่างแผนขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ภายใต้กลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่งที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น S2: Scale-Up Green Energy มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยยังมองหาโอกาสลงทุนผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เบื้องต้น จะโฟกัสการลงทุนในอินเดีย หลังจากได้เข้าไปลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่ปัจจุบันได้สิทธิผลิตไฟฟ้าถึง 100 GW แต่ในอนาคตมีโอกาสขยายเพิ่มเป็น 500 GW ซึ่งGPCS ก็หวังที่จะมีส่วนร่วมขยายการลงทุนไปด้วยกัน
S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบันก็มีความร่วมมือกับ ปตท. และ S4: Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
“แม้ว่า วันนี้ รัฐจะยังไม่เปิดเสรีด้านสายส่งไฟฟ้า แต่ GPSC ก็ได้ทดลองทำโครงการภายใต้ Sandbox ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และหวังว่า ในอนาคตประเทศไทย จะเกิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเลือกซื้อขายไฟฟ้าในราคาถูกได้ด้วยตัวเอง และเมื่อถึงวันนั้น ทาง GPSC ก็พร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดไฟฟ้าเสรี”
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ ORion บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า ที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจของ OR ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ทำให้ต้องทบทวนขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ผ่านการจัดตั้ง โครงการ Orion (โอไรออน) ที่มีภารกิจค้นหาและแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้กับ OR ภายใต้วิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” หรือ “Empowering All Toward Inclusive Growth” ที่ตั้งเป้าหมายในปี 2030 หรือ OR 2030 Goals ใน 3 ด้าน คือ 1) การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน (Living Community) ซึ่งครอบคลุมทั้งในพื้นที่ที่ OR ดำเนินธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ มากกว่า 15,000 ชุมชน หรือกว่า 12 ล้านชีวิต
2) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมตลอดทั้งการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutrality) ภายในปี 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050
3) การสร้างการเติบโต สร้างอาชีพ และการกระจายความมั่งคั่ง (Economic Prosperity) สู่คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการขนาดย่อม (MSMEs) พนักงาน และชุมชนมากกว่า 1 ล้านราย ผ่านการเติบโตโดยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) เป็นหลัก
“อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา(EBITDA) จากธุรกิจใหม่ จะต้องมีสัดส่วน 20% ภายในปี 2030 จากปัจจุบัน การเติบโตของ EBITDA ยังเป็นหลักเดียว ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจใหม่”
ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจใหม่ และนวัตกรรมของ OR จะดำเนินการภายใต้ 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.Main Digital Platform ที่จะมีการพัฒนาแอพลิเคชั่นขึ้นมาเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภค ผ่าน All in one App ซึ่งปัจจุบัน OR มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,500 สาขา มีร้านอเมซอน 4,000 สาขา กระจายทั่วประเทศ และมีผู้เข้าใช้บริการผ่านสถานีบริการน้ำมันต่อวัน 3 ล้านราย ฉะนั้นจะต้องทำให้เกิดโมเดลธุรกิจแบบ O2O (Online-to-Offline) เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้
2.Physical & Digital Platform การก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจMobility, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม(Food & Beverage : F&B) ,ธุรกิจสุขภาพและความงาม (Health & Wellness), ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism) และธุรกิจเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี (Empowering SMEs)
3.Startups& Venture Capital ซึ่งจะมีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ปัจจุบัน ลงทุนไปแล้ว 3 ราย โดยมอบโจทย์จะต้องหาสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4.Innovation Culture ด้วยบริบทโครงสร้างองค์กรของOR ที่มีขนาดใหญ่ยังไม่ยืดหยุ่นพอ ฉะนั้นจะมุ่งไปที่การดูโครงสร้างองค์ที่เหมาะสมควรเป็นลักษณะใดในการสร้างแรงจูงใจเรื่องของการพัฒนานวัตกรรม ผลตอบแทนที่จูงใจ และกฎระเบียบต่างๆให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
5.Partnership จัดตั้งหน่วยงานเซ็นเตอร์บริหารจัดการพันธมิตรที่เข้ามาเพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งจะดูเรื่องการติดต่อ คัดกรอง ประเมินศักยภาพพันธมิตรที่มีคุณสมบัติเข้ามาร่วมธุรกิจในเบื้องต้น ก่อนพัฒนาความร่วมมือสร้างการเติบโตร่วมกันต่อไป