ผู้ชมทั้งหมด 451
SRTA-ศิริราช ร่วมมือจ้างศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี 148 ไร่ ใช้เวลา 6 เดือนงบฯ 10 ล้านบาท ยกระดับเป็นเมืองแห่งการแพทย์-เมืองสีเขียว คาดเปิดประมูลเฟสแรก 14 ไร่ปลายปีนี้
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) โดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และน.ส.ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล รักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการพัฒนาพื้นและจัดประโยชน์ที่ดินของรฟท. รอบสถานีรถไฟธนบุรีตามแนวทางพัฒนาแบบ Transit Oriented Development (TOD) โดยมีแนวคิดการพัฒนา เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ตามหลักการ 4 ด้าน ดังนี้ 1. CONNECTIVITY LINKAGE สนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้า และ ขนส่งมวลชนสาธารณะ (Public Transport)
2. GREEN ENVIRONMENT สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาด สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างทางเดินรถจักรยาน จัดติดตั้งจุดเติม EV Charger สำหรับรถไฟฟ้า (Energy Vehicle; EV)3. MEDICAL COMPLEX สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจร และศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และ 4. INTREGATED MIXED USE DEVELOPMENT สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย โดยให้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นเป็นสำคัญ
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการบริหารเรื่องการพัฒนาพื้นที่ของ รฟท. เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 148 ไร่ ใช้งบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท และใช้เวลาศึกษา 6 เดือน โดยหวังว่าจะเป็นต้นแบบและตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ และพื้นที่อื่นๆของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต เนื่องจากโครงการมีการพัฒนาทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในเบื้องต้นการพัฒนาพื้นที่สถานีธนบุรีนั้นจะดำเนินการแบ่งเป็นระยะ(เฟส) โดยเฟสแรก จะทำการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ และน่าจะสามารถเปิดให้เอกชนประกวดราคา(ประมูล) ได้ในช่วงปลายปี 66 แบบสัญญาเดียวในลักษณะเช่าดำเนินการเป็นเวลา 30 ปี จากนั้นน่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 69 ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างการรับรู้ แลการะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้าน น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ 14 ไร่ที่จะพัฒนาในเฟสแรกนั้น จะพัฒนาเป็นโครงการที่รวมอสังหาริมทรัพย์สำหรับการอยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งอาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าต่างๆ หรือมิกซ์ยูส ซึ่งพื้นที่ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของพนักงาน รฟท. ประมาณ 300 ครัวเรือน และในระหว่างการก่อสร้างจะย้ายพนักงาน รฟท. ไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ซึ่งกำลังพิจารณาหาที่ที่เหมาะสมอยู่
อย่างไรก็ตามขณะนี้ รฟท. ยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟแห่งอื่นๆ ได้แก่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ดินแปลง A และ E คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน รวมถึงการศึกษาพื้นที่บริเวณ RCA และพื้นที่มักกะสัน ที่คาดว่าผลการศึกษาน่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า สำหรับพื้นที่ 14 ไร่ มีมูลค่าที่ดินประมาณ 1,770 ล้านบาท โดยให้เอกชนเช่า 30 ปี รฟท. จะได้ผลตอบแทนรวม 3,584 ล้านบาท