ผู้ชมทั้งหมด 371
ทอท. เผยผู้โดยสารจีนตั้งแต่ 8 ม.ค. – 15 ก.พ. 66 รวม 161,502 คน คาดแตะ 1,000,000 คน ภายใน 20 ส.ค. 66 ยันสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น ระยะการขนถ่ายกระเป๋าลดลง เร่งติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติรองรับผู้โดยสารขาออก เป็น 8,800 คน/ชั่วโมง และ สามารถรองรับผู้โดยสารขาเข้าเป็น 13,300 คน/ชั่วโมง พร้อมเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ฯ เข้าระบบ 4,500 คัน
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมด้วย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ร่วมกันแถลงความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. เปิดเผยว่า สถิติเที่ยวบิน และผู้โดยสารในภาพรวมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ปัจจุบันนับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 107,304 เที่ยวบิน และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 17,350,179 คน โดยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง และประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ได้ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ทำการบิน ณ ทสภ. ในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดยเฉพาะภายหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 รวมถึงได้อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ ทสภ. มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันที่ 8 มกราคม -15 กุมภาพันธ์ 2566 เที่ยวบินที่ทำการบินเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน ฮ่องกง มาเก๊า) มีจำนวน 751 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 20 เที่ยวบิน และผู้โดยสารขาเข้าจากจีนมีจำนวน 161,502 คน เฉลี่ยวันละ 4,142 คน ทั้งนี้ ทสภ. คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินขาเข้าจากจีนจะแตะ 500,000 คน ภายในประมาณวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 และแตะ 1,000,000 คน ภายในประมาณวันที่ 20 สิงหาคม 2566
สำหรับความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดความแออัดคับคั่งของผู้โดยสารโดยเฉพาะในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน (Peak Hour) นั้น ทสภ. มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขในหลายๆ ประเด็น อาทิ กรณีการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถิติเที่ยวบินที่กระเป๋าล่าช้ามากกว่า 30 นาที จากเดิมเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน เดือนมกราคม 2566 ประมาณ 30 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงเหลือประมาณ 15-20 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของเที่ยวบินทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะกลางนั้น บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ณ ทสภ. ทั้ง 2 ราย (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด) ไได้เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 ซึ่ง ทอท. ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยให้กับ ทสภ. ต่อไป
นอกจากนี้ ทสภ. ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหารถแท็กซี่สาธารณะขาดแคลน ให้เป็นไปด้วยความคล่องตัวเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและใช้เวลาในการรอคิวน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถแท็กซี่ฯ ในระบบเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็น 3,909 คัน และ ทสภ. คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ฯ เข้าระบบเพื่อรองรับการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นได้ถึงจำนวน 4,500 คัน ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ทสภ. และจองการใช้บริการรถ TAXI ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการรถแท็กซี่ฯ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.อยู่ระหว่างเตรียมการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. โดยมีแผนการเพิ่มขีดความสามารถของจุดตรวจหนังสือเดินทาง ณ ทสภ. แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel เพื่อรองรับผู้โดยสารขาออกได้ทุกประเทศที่มีการใช้งาน E-Passport ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการผ่าน Auto channel ได้ สะดวก รวดเร็ว ในขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้มีบันทึกข้อตกลงในการผ่านเข้าประเทศ ทำให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้ สามารถใช้บริการ Auto channel ได้ ซึ่งการดำเนินการอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ และคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุ ได้ประมาณ เดือน มิถุนายน 2566 และเริ่มทยอยทำการติดตั้งเครื่อง Auto channel ได้ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2566 ไปจนครบภายในเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาออก จาก 6,200 คน/ชั่วโมง เป็น 8,800 คน/ชั่วโมง และ สามารถรองรับผู้โดยสารขาเข้า จาก 11,000 คน/ชั่วโมง เป็น 13,300 คน/ชั่วโมง
ระยะที่ 2 ก่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ว่าง ที่อยู่ระหว่างอาคารผู้โดยสารกับ อาคาร Concourse D เพื่อเป็นโถงรองรับผู้โดยสารขาเข้า และผู้โดยสาร Visa on Arrival (VOA) ซึ่งการดำเนินการอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ และจัดทำข้อกำหนดรายละเอียด (TOR) โดยจะสามารถเริ่มงานได้ประมาณ เดือน พฤศจิกายน 2566 และจะแล้วเสร็จในเดือน พฤษภาคม 2568 โดยเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาเข้าได้อีกประมาณ 2,000 คน/ชั่วโมง และเพิ่มการรองรับในส่วนของผู้โดสาร Visa on Arrival (VOA) ได้อีก ประมาณ 400 คน/ชั่วโมง
ทั้งนี้ ทอท. ได้ติดตามและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมรองรับสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้โดยสารที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว