ก.พลังงานลั่นโซลาร์EEC-ทบ.โรงไฟฟ้าก๊าซฯ1,700MWต้องบรรจุในแผนพีดีพี

ผู้ชมทั้งหมด 1,145 

ก.พลังงานยืนยันการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในพื้นที่ EEC และโครงการพัฒนาด้านไฟฟ้าภายใต้พื้นที่พิเศษต่างๆ รวมถึงโครงการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ของภาครัฐ ต้องเป็นไปตามแผน PDP พร้อมเจรจากพอ.สัปดาห์หน้า

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวระบุถึงการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และโครงการพัฒนาด้านไฟฟ้าภายใต้พื้นที่พิเศษต่างๆ รวมถึงโครงการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ของภาครัฐ ว่า โครงการดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำหนดการรับซื้อที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)

โดยการจัดทำแผน PDP นั้นจะมีการพิจารณาถึงมิติต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้านและต้องมีความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านความมั่นคง มิติด้านต้นทุน รวมถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการมองในภาพรวมของการพัฒนาระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ การรับซื้อไฟฟ้าตามแผน PDP จึงเป็นการดำเนินการตามแผน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โครงการที่จะมีการพัฒนาและจะมีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่นั้น ต้องมีการพิจารณาในองค์รวมภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan)  โดยจะเป็นการรวมแผน TIEB เดิม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ทิศทางกาเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ว่าจะว่าเป็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะตอบโจทย์การลดการปล่อยปลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า การเข้า        สู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการประมวลทิศทางโลกเหล่านี้ กระทรวงพลังงานจะนำมาพิจารณาร่วมกับทิศทางการพัฒนาของประเทศที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าภายในช่วงกลางปี 2564 จะมีการนำเสนอร่างแผนพลังงานชาติโดยจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 

ทั้งนี้เมื่อแผนได้รับความเห็นชอบแล้วก็จะนำแผนดังกล่าวมาเป็นกรอบทิศทางนโยบายในการพัฒนาแผนปฏิบัติการในแต่ละด้าน ทั้งด้านไฟฟ้า ด้านก๊าซธรรมชาติ ด้านพลังงานทดแทน ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยคาดว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 4/2564 และในช่วงสัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงาน จะมีการประชุมหารือร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าในเขตพื้นที่ EEC ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC 500 เมกะวัตต์นั้นเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) โดยจัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ขึ้นมาดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการนี้ทางนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า จะดำเนินการก่อสร้างในปีนี้ และจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เฟสแรก จำนวน 300 เมกะวัตต์ตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 และ COD ครบ 500 เมกะวัตต์ในปี 69

โดยผู้บริหาร SPCG ยืนยันว่าโครงการโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์ในพื้นที่ EEC นั้นเป็นการดำเนินการตามมติ​ของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน​ ซึ่งได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว และจะต้องบรรจุอยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติของกระทรวงพลังงานหรือไม่เป็นหน้าของ กพอ.ที่ต้องเสนอแผนให้กระทรวงพลังงานพิจารณา

ส่วนโครงการพัฒนาด้านไฟฟ้าภายใต้พื้นที่พิเศษต่างๆ รวมถึงโครงการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ของภาครัฐ ที่ยังไม่ได้บรรจุในแผน PDP อีก 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้นเป็นไปตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 โดยที่ผ่านมาทาง ศอ.บต.ได้เสนอแผนให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร

ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน​ (โซลาร์ฟาร์ม) ภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพบกและ กฟผ.ที่มีการลงนามความร่วมมือกันไป​เมื่อ​ ​28​ ม.ค.​2564​ ที่ผ่านมา​)​ ซึ่งเบื้องต้นจะศึกษานำร่อง ขนาด 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ในพื้นที่ราชพัสดุที่จังหวัดกาญจนบุรี​ซึ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของกองทัพบก​นั้น นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในระยะแรกจำนวน 300 เมกะวัตต์นั้นคาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนก็จะมีความชัดเจนเรื่องการลงทุน อย่างไรก็ตามในระหว่างการศึกษาจะต้องดำเนินการควบคู่กับการเจรจากับกระทรวงพลังงาน และผู้จัดทำแผนPDP ก่อนและต้องมีความร่วมมือกันหลายฝ่ายรวมทั้งภาคเอกชนด้วย