ผู้ชมทั้งหมด 629
“กรมทางหลวง” ชี้แจง เร่งรัดงานก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช พร้อมเดินหน้าต่อทันที ยืนยันเปิดให้ประชาชนใช้งานฟรี ช่วงปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองโคราช ระยะทาง 80 กิโลเมตร ปลายปี 2566 นี้
ตามที่มีการเผยแพร่ข่าว พาดพิงถึงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ว่ามีความล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาก และจะก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนั้น นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน จึงขอชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนการก่อสร้างภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่ม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน สรุปดังนี้
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สาย บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดนครราชสีมาประตูสู่ภาคอีสาน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น บรรเทาความแออัดหนาแน่นของถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพในปัจจุบัน
ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินก่อสร้างงานโยธามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช รวมทั้งสิ้น 69,970 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 40 สัญญา กรมทางหลวง ได้ทำการออกประกวดราคาทั้ง 40 สัญญา ในช่วงปี 2559-2560 วงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญารวม 59,410 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติ 10,560 ล้านบาท
โดยงานส่วนใหญ่เริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2560 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 สัญญา และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 16 สัญญา ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคที่จำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ทำให้ค่างานเพิ่มขึ้นมากกว่าวงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญา โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัด กำชับติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดใช้งานมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ตลอดเส้นทางโดยเร็ว โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพของงานให้ได้ตามมาตรฐาน ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมภิบาลอย่างเคร่งครัด
นายสราวุธ กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นต้องมีการปรับแก้แบบและเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้าง เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งโครงการนี้ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551 แล้วมาก่อสร้างในปี 2560 สภาพพื้นที่จริงได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องแก้ไขปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน และต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับโครงสร้างสาธารณูปโภค ข้อกำหนด หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการตัดผ่าน รวมทั้งต้องทำการปรับรูปแบบการก่อสร้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้เมื่อต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคดังกล่าว ทำให้เกิดมีค่างานเพิ่มขึ้นมากเกินสัญญาก่อสร้าง ดังนั้นตั้งแต่ปี 2563 กรมทางหลวง จึงได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพราะเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างในปี 2560 จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ทั้งด้านวิศวกรรมงานทาง และโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อยืนยันความถูกต้อง เหมาะสม ความแข็งแรง ของรูปแบบที่มีการแก้ไข และต้องประหยัดคุ้มค่า
โดยมีหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่หน้างานจริงทุกสัญญาที่มีประเด็นปัญหา ชุดที่ 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านระเบียบกฎหมาย รวมทั้งการบริหารสัญญา เพื่อให้การดำเนินการต่อ มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ อาทิ อัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้กรมทางหลวง ยังได้ทำหนังสือหารือกรมบัญชีกลางอีก 2 ครั้ง เพื่อสอบถาม และขอแนวทางในการดำเนินการตามระเบียบว่าการพัสดุ กรณีที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ทางราชการเป็นที่สุด
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณ ในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 12 สัญญา วงเงิน 4,970.710 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบวงเงินทั้งโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ได้อนุมัติไว้ เมื่อปี 2559
สำหรับขั้นตอนกระบวนการหลังจากนี้ กรมทางหลวงจะต้องทำการแก้ไขสัญญา ตามวงเงินที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตั้งแต่การแก้ไขแบบก่อสร้าง การตกลงราคาและเวลาทำการ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งกรมทางหลวงจะดำเนินการทุกขั้นตอน อย่างรอบคอบ รัดกุม ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงทำการลงนามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมกับผู้รับจ้าง และเดินหน้าก่อสร้างทันทีในเดือนมีนาคม 2566 โดยคำนึงถึงคุณภาพของงาน การก่อสร้างที่ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และหลักการทางวิศวกรรม และมีความปลอดภัยสูงสุดในระหว่างการก่อสร้างเป็นสำคัญ
สำหรับงานทั้ง 12 สัญญา ที่ต้องเดินหน้าต่อ กรมทางหลวงได้พิจารณาวางแผนเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยขอความร่วมมือผู้รับจ้างให้เพิ่มชุดเครื่องจักร คน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น แต่เนื่องจากงานที่เหลือหลายสัญญา เป็นงานก่อสร้างสะพาน และงานโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณงานมากมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน เช่น สัญญาที่ 21 สัญญาที่ 23 ในช่วงสระบุรี-ปากช่อง ต้องใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 2 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ให้เสร็จภายในเวลา 6 เดือน ตามที่เป็นข่าว
สรุประยะเวลาการก่อสร้างส่วนที่เหลือ ของแต่ละสัญญา ทั้ง 12 สัญญา ตามแผนงานที่เร่งรัดอย่างเต็มที่ ดังนี้
สัญญาที่ 1 ใช้เวลา 22 เดือน
สัญญาที่ 2 ใช้เวลา 12 เดือน
สัญญาที่ 4 ใช้เวลา 22 เดือน
สัญญาที่ 5 ใช้เวลา 9 เดือน
สัญญาที่ 18 ใช้เวลา 13 เดือน
สัญญาที่ 19 ใช้เวลา 12 เดือน
สัญญาที่ 20 ใช้เวลา 11 เดือน
สัญญาที่ 21 ใช้เวลา 23 เดือน
สัญญาที่ 23 ใช้เวลา 23 เดือน
สัญญาที่ 24 ใช้เวลา 4 เดือน
สัญญาที่ 34 ใช้เวลา 9 เดือน
สัญญาที่ 39 ใช้เวลา 9 เดือน
นอกจากการก่อสร้างงานโยธาแล้ว โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ยังมีงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-Flow ระบบบริหารควบคุมจราจร ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าตามสายทาง ระบบโครงข่ายสื่อสารข้อมูลด้วยใยแก้วนำแสงตลอดเส้นทาง พร้อมทั้งงานอาคารสำนักงาน ศูนย์ควบคุม และองค์ประกอบต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งกรมทางหลวงได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนคู่สัญญา PPP เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบระบบทยอยเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2567 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป
นายสราวุธ กล่าวตอนท้ายว่า ขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติวงเงินเพิ่ม และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้กำชับ ติดตาม เรื่องนี้มาโดยตลอด ต่อจากนี้กรมทางหลวงจะเดินหน้าเร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยในปลายปี 2566 นี้ ยืนยันว่าการก่อสร้างสัญญาที่ 39 ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างต่ออีก 9 เดือน ที่ อ.ขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา แล้วเสร็จสมบูรณ์แน่นอน จะทำให้ประชาชนสามารถทดลองใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ฟรี ตั้งแต่ อ.ปากช่อง ถึงสุดปลายทางที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (สัญญาที่ 40) ยาวต่อเนื่องเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ด้วยความสะดวก ปลอดภัย อย่างแน่นอน รวมทั้งทยอยเปิดทดลองใช้งานช่วงอื่นที่แล้วเสร็จในปี 2567 และเปิดใช้งานเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางทั้ง 196 กิโลเมตร ในปี 2568
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และเปิดประตูการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้อย่างสมบูรณ์เพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น