“ราช กรุ๊ป” เปิดเดินเครื่องส่วนขยายโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น หนุนรายได้

ผู้ชมทั้งหมด 591 

“ราช กรุ๊ป” เปิดเดินเครื่องส่วนขยายโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 31.20 เมกะวัตต์ จำหน่ายลูกค้าอุตสาหกรรม รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดเริ่มรับรู้รายได้การจำหน่ายไฟฟ้าจากส่วนขยายในไตรมาส 1 ปีนี้เป็นต้นไป      

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 31.20 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 7.15 ตันต่อชั่วโมง ได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็น 150.95 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไอน้ำรวม 17.15 ตันต่อชั่วโมง โดยกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี สำหรับกำลังการผลิตส่วนขยายนี้จะช่วยขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมและสร้างรายได้เพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมดด้วย  บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้การจำหน่ายไฟฟ้าจากส่วนขยายในไตรมาส 1 ปีนี้เป็นต้นไป      

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเริ่มคลี่คลาย ปัจจุบัน กำลังการผลิตของ  ส่วนขยาย 20 เมกะวัตต์ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อย และยังมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าทั้งในส่วนของไฟฟ้าและไอน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมชุมนุมทรัพย์ และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครด้วย

“โรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่นส่วนขยาย มีประสิทธิภาพสูงโดยสามารถเพิ่มและลดการผลิตได้ในเวลาอันรวดเร็วและใช้เชื้อเพลิงได้คุ้มค่า ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังช่วยเสริมเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่นในการผลิตและส่งไฟฟ้าให้กับลูกค้าในภาพรวมได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยควบคุมให้อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่ามาตรฐานของกฎหมาย”

สำหรับ โรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทเอสพีพี ตั้งอยู่ในประเทศไทย 7 โครงการ มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 593.44 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 568.96 เมกะวัตต์