“อินโนบิก” ผนึก สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล จ่อผลิตและขายซอสจากผักไตรมาส3ปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 546 

อินโนบิก จับมือ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตและจำหน่ายซอสจากผัก ตั้งเป้าผลิตซอสสูตรต้นตำรับและสูตรสำหรับเด็กที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย นำร่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุในรูปแบบซอง ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย “ซอสซ่อนผัก และ ซอสซ่อนผักสูตรเด็ก” นวัตกรรมคิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัย สถาบันโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และใยอาหาร เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว และเด็กๆที่อาจไม่ชอบรับประทานผักได้มีสารอาหารที่พียงพอรวมถึงยังเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพอีกด้วย งานวิจัย “ซอสซ่อนผัก” ได้รับการยอมรับโดยได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ จากผลการทดสอบในกลุ่มผู้นิยมบริโภคอาหารปิ้งย่าง เพื่อศึกษาการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย ที่มักปนมากับส่วนที่ไหม้เกรียมจาการปิ้งย่าง พบว่าการรับประทานซอสซ่อนผักในปริมาณพอเหมาะ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารก่อมะเร็งได้อีกด้วย

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เปิดเผยว่า เรื่องโภชนาการถือเป็นสาเหตุหลักของความมั่นคงทางด้านสุขภาพและอาหารที่อินโนบิกให้ความสำคัญ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพด้านการวิจัยอย่าง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ เป็นการต่อยอดนวัตกรรมงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ของคนไทย โดยมีแผนการผลิตซอสสูตรต้นตำรับและสูตรสำหรับเด็กที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย นำร่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุในรูปแบบซอง ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เพื่อเพิ่มทางเลือกการทานอาหารให้กับคนไทยทุกวัย ให้ได้รับประโยชน์ ถูกปาก และสะดวกต่อการรับประทาน อีกทั้งวัตถุดิบในการผลิตซอสซ่อนผักนั้น ยังเป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย

ทั้งนี้ อินโนบิก (เอเซีย) ดำเนินธุรกิจโภชนาการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย และโภชนเภสัช โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมดูแลสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ให้มีโภชนาการที่ดีและป้องกันโรคต่างๆ  ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคตามวิถีชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร. ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลงานวิจัย “ซอสซ่อนผัก” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เกิดจากโจทย์วิจัยว่า ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมส่วนใหญ่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ คือ กินผักผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วนต่อวันหรือไม่ถึง 400 กรัมต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จากผลสำรวจพบว่ามีคนไทยเพียงประมาณ 4 ใน 10 คน ที่กินผักผลไม้เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำในแต่ละวัน ขณะที่เด็กวัยเรียนเพียง 2-3 คน จาก 10 คนเท่านั้นที่กินผักและผลไม้เพียงพอ ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมากินผักผลไม้มากขึ้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก การนำผลิตภัณฑ์อาหารที่คนนิยมรับประทานอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอด เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ดังเช่น ในรูปของซอสที่สามารถรับประทานได้กับอาหารประเภทต่างๆได้หลากหลาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไม่ชอบกินผัก โดยเฉพาะเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาการบดเคี้ยว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือของสถาบันโภชนาการกับภาคเอกชน เพื่อทำให้ผลงานการวิจัยด้านอาหารและโภชนาการสามารถขยายผลสู่วงกว้าง เข้าถึงประชาชนคนไทยได้ง่ายขึ้น

สถาบันโภชนาการ เชื่อมั่นว่าความสำเร็จในการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์ทั้งสองในวันข้างหน้า ซึ่งเริ่มต้นจากพิธีในวันนี้ จะเป็นก้าวแรกของการทำงานร่วมกัน ผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย นำผลงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ ไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า การลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอสซ่อนผักและซอสซ่อนผักสูตรเด็ก อันเป็นผลงานวิจัยของ

รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง ดุลยพร ตราชูธรรม และคณะ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จจากการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือ Licensing ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวแก่ บริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำและคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจโภชนเภสัช (Nutraceutical) ด้านโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือ และผลักดันผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงสาธารณประโยชน์ พร้อมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต่อไป