ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ขยับขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยบวกจีนเปิดประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 873 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ปรับขึ้นเล็กน้อย หลังจีนประกาศเปิดประเทศ ขณะที่สภาพอากาศหนาวจัดในสหรัฐฯกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 02 – 06 ม.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเล็กน้อย หลังจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้ ส่งผลให้ตลาดคาดปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่หนาวจัด จากพายุหิมะในสหรัฐฯ ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนกว่า 1,000 เที่ยวบิน ส่งผลกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในปี 2566 เพื่อตอบโต้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมัน (price cap) ของรัสเซียโดยยุโรป ทำให้ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มตึงตัว

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายพื้นที่และพิจารณายกเลิกระยะเวลาของการกักตัวเพิ่มเติมสำหรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในเดือนม.ค. 66 เป็นตันไป ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีนมากที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคสายการบิน เนื่องจากมีรายงานว่าการค้นหาเที่ยวบินจากจีนปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด จากพายุฤดูหนาว ในหลายเมืองทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับ น้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 ราย โดยอุณหภูมิที่เย็นจัด ทำให้จำนวนเที่ยวบินต้องถูกยกเลิกมากกว่า 1,000 เที่ยวบิน ส่งผลกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งโรงกลั่นตามแนวชายฝั่งอ่าวของสหรัฐฯ ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยหยุดดำเนินการชั่วคราวในบางหน่วยกลั่น เนื่องจากอุปกรณ์ขัดข้อง ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อาจหายไปกว่า 3.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่พายุฤดูหนาวในสหรัฐฯ คาดว่าจะปกคุลมยาวไปจนถึงหลังปีใหม่ ทำให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มตึงตัว อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นบางแห่งกำลังพยายามที่จะกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหนึ่ง
  • รัสเซียวางแผนการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบลง 500,000-700,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2566 เพื่อตอบโต้การใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียโดยผู้นำ G7  และจะไม่ส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศที่ใช้มาตรการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 05 ก.พ. 66 สำหรับน้ำมันดิบและคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กับน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย ขณะที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียผ่านทางทะเลในช่วงต้นเดือนธ.ค. 65 ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงกว่า 54% อยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • รัสเซียประกาศจะกลับมาดำเนินการส่งออกแก๊สไปยังยุโรปอีกครั้งผ่านท่อส่งแก๊ส Yamal-Europe หลังก่อนหน้านี้หยุดดำเนินการเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยุโรป ด้านราคาแก๊สในยุโรปปรับตัวลดลงในวันที่ 27 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมาเนื่องจากสภาพอากาศในฤดูหนาวที่ไม่รุนแรงมากนัก ทำให้ปริมาณการบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาแก๊สที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มที่จะใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติหรือ Gas-to-Oil Switching
  • ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป ในปี 2566 หลัง FED และ ECB ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการเติบโตของประเทศที่ปรับตัวลดลง ด้านอังกฤษประกาศ GDP Q3/22 ปรับลดลง 0.3% Q-o-Q ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ปรับลดลงเช่นกัน ได้แก่ ตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลง 2.5% Q-o-Q ซึ่งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตและการบริการเดือนธ.ค. 65 ของสหรัฐฯ และตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค. 65 ของยุโรป

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. – 30 ธ.ค. 65 พบว่า  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 78.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากพายุหิมะในสหรัฐฯ ทำให้โรงกลั่นต้องหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว เนื่องจากอุปกรณ์ขัดข้องเพราะสภาพอากาศที่หนาวจัด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หายไป 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้านสำนักงานพลังงานสารสนเทศของสหรัฐ (EIA) รายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 23 ธ.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 419.0 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล