คมนาคมสรุปผลงานเด่นปี 65! ปี 66 ขับเคลื่อนลงทุน 106 โครงการ หวังดันเข้าครม. ส่งท้ายรัฐบาล 9 โครงการ 5 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 1,479 

กระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานในสังกัดที่มีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนครบ 4 มิติระบบการคมนาคมขนส่ง และยังเป็นอีกกระทรวงอันดับต้นๆ ของไทยที่ช่วยให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี   

อย่างไรก็ตามล่าสุดนั้นกระทรวงคมนาคมโดย  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แถลงผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ สรุปผลงานปี 2565 ซึ่งมีหลายโครงการสำคัญที่ได้มีการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งผลงานตามนโยบายของกระทรวงในปี 2565 นั้นจาก 79 นโยบาย 167 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จหรือเปิดให้บริการแล้ว รวม 61 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 64 โครงการ และอยู่ในช่วงจัดทำแผนงานหรือออกแบบ จำนวน 42 โครงการ  

ทั้งนี้การดำเนินการพัฒนาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในปี 2565 นั้นมีหลายโครงการที่ถือว่าเป็นผลงานเด่นของกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น นโยบายด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 13 นโยบาย 25 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 โครงการ อาทิ การกำหนดความเร็วรถยนต์สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โครงการพัฒนาระบบ M-Flow เป็นต้น

ส่วนโครงการที่ประกวดราคาและอยู่ระหว่างดำเนินงานมีจำนวน 14 โครงการ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต สายกะทู้ – ป่าตอง และอยู่ระหว่างจัดทำแผนหรือออกแบบอีก จำนวน 6 โครงการ อาทิ โครงการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP โครงการ Landbridge ชุมพร – ระนอง และมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) เป็นต้น

ขณะที่โครงการที่ประสบความสำเร็จสามารถดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายนั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า การผลักดันระบบขนส่งสาธารณะให้มาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) มาให้บริการ และการให้บริการเรือพลังงานไฟฟ้า (EV Boat) นอกจากนี้การเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เป็นรูปแบบการบริหารรถไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จ และในปี 2566 จะมีการนำรถไฟพลังงานไฟฟ้า (EV on Train) มาให้บริการ ส่วนทางอากาศ คือ การพัฒนาสนามบินเป็นศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ที่ดำเนินร่วมกันระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินการได้ตามแผน

“แผนขับเคลื่อนการลงทุนปี 2566”  

ส่วนการขับเคลื่อนการลงทุนในปี 2566 นั้นจากนโยบายในปี 2565 ทั้งหมด 79 นโยบาย 167 โครงการในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจำนวน 106 โครงการ หน่วยงานจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ นั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ตนได้มอบนโยบายใหม่ 24 นโยบายที่จะต้องดำเนินการในปี 2566 โดยแบ่งเป็น ด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 4 นโยบาย 15 โครงการ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาระบบ M-Flow ทางพิเศษสายฉลองรัช สายบูรพาวิถี สายกาญจนาภิเษก 2) การแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วน คือ ศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

3) ต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม – ปากท่อ PPP มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงและโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และ 4) จัดทำมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้างในพื้นที่เปิด

ด้านการขนส่งทางบก จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย1) แผนพัฒนาการบริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานฐานข้อมูลระบบ GPS 2) แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า คือ การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าสถานีรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3) ต่อยอดการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า คือ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 4) โรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ โดยเปิดรับคัดเลือกโรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ และ 5) ยกระดับด้านทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาระบบการจดทะเบียนรถ

ด้านการขนส่งทางราง จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม คือ ศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง 2) พัฒนามาตรฐานรถไฟทางคู่ คือ ศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำร่างมาตรฐานการซ่อมบำรุงของรถไฟสายประธาน 3) พัฒนารถไฟความเร็วสูง คือ ศึกษาความเหมาะสมการเชื่อมโยงรถไฟไทย สปป.ลาว และจีน 4) พัฒนามาตรฐานรถไฟฟ้าในเมือง คือ การศึกษาจัดทำร่างมาตรฐานระบบไฟฟ้า และอาณัติสัญญาณ และ 5) ผลักดันการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค คือ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายท่าฉัตรไชย

ด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน 6 นโยบาย 9 โครงการ ประกอบด้วย1) แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งต้องคงทน เช่น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 2 และ 3  2) Master Plan ฟื้นฟูชายหาด ต้องครอบคลุม เช่น การเสริมชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2 สำรวจแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาดชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง 3) ท่าเรือยอร์ชคลับ ต้องสร้างรายได้ เช่น ศึกษา Marina Hub และท่ามารีนาชุมชน

4) แผนการเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้าต้องสมบูรณ์ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือพระราม 5 พัฒนาท่าเรือพระปิ่นเกล้า พัฒนาท่าเรือปากเกร็ด 5) เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำ เช่น ศึกษาพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และ 6) การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หลังท่า คือ การศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)

ด้านการขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 นโยบาย 24 โครงการ ประกอบด้วย 1) พัฒนา ท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น โครงการขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่น โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรังและนครศรีธรรมราช โครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายด้านตะวันออก และทางวิ่งเส้นที่ 3

2) พัฒนาห้วงอากาศ/ระบบการเดินอากาศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ก่อสร้างอาคารหอควบคุมการจราจร และสำนักงานแห่งใหม่ (เชียงใหม่) 3) ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน เช่น โครงการบริหารและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data & Analytics) 4) เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศ เช่น การการแก้ไขปัญหาในการให้บริการผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

เร่งผลักดันเข้า ครม. อนุมัติส่งท้ายรัฐบาล 9 โครงการ 5 แสนล้าน

อย่างไรก็ตามแผนการขับเคลื่อนการลงทุนในปี 2566 นั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า มีหลายโครงการที่ต้องการเร่งผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ หลังจากครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งจากการพิจารณาในเบื้องต้นจากภาพรวมโครงการที่มีความพร้อมผลักดันเข้าสู่การ พิจารณาของ ครม. ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงของการทำงานภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ประเมินว่าจะมีประมาณ 9 โครงการ วงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.รถไฟไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท 2.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท 3. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท

4.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท 5.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท 6.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น -หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท

7.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย  ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท 8. รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท และ 9. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน – นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน วงเงินราว 6.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดประมูลก่อสร้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความจำเป็นต้องปรับแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน