ผู้ชมทั้งหมด 548
เอกชนผู้รับเหมารายใหญ่! CK ITD STEC UNIQ จับตาการทางพิเศษฯ เร่งดันแผนพัฒนา 5 โปรเจค ทางด่วนมูลค่าโครงการรวม 1.1 แสนล้าน ลุยประกวดราคาปี 66
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 กทพ. มีแผนพัฒนาโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายใหม่ 5 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแออัด รองรับความต้องการใช้ทางด่วนของประชาชน คาดว่าจะทยอยเปิดประกวดราคา และเริ่มงานก่อสร้างในปี 2566 ดังนี้
1.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทพ. ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นวงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท จากเดิม 1.69 หมื่นล้านบาทเป็นประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) โดยคาดว่าจะนำเสนอ ครม. พิจารณาในเดือน ธ.ค. 2565 หากผ่านการเห็นชอบก็คาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566
2.โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากปรับแนวเส้นทางใหม่ โดยจะสิ้นสุดในช่วงระหว่างคลอง 9 กับคลอง 10 เพื่อเชื่อมต่อกับวงแหวนรอบที่ 3 รองรับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ MR-Map สาย MR 10 และ MR 6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ที่จะพัฒนาในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเสนอโครงการฯเข้าสู่ที่ประชุมครม. ในปลายปีนี้ ก่อนจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในต้นปีหน้า ควบคู่ไปกับการเสนอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในปี 2566 โดยจะทยอยลงทุนในระยะที่ 1 ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
3.โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช – ศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ (M7) รวมระยะทาง 18.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด โดยโครงการนี้จะมีแนวเส้นทางรครอบคลุมการเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษสายศรีรัช ถนนศรีนครินทร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 เป็นโครงข่ายทางพิเศษที่จะช่วยระบายปัญหาการจราจรแออัด
4.โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีแผนงานเบื้องต้นว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2566 จากนั้นในปี 2566-2567 จะขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และดำเนินการขอใช้พื้นที่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 ก่อนเปิดให้บริการในปี 2573
5. โครงการทางพิเศษ สายขนอม- เกาะสมุย ระยะทาง 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 2.5 หมื่นล้านบาท กทพ. อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด และความเหมาะสมคาดใช้ระยะยะเวลาประมาณ 1 ปี พร้อมทั้งจัดทำ EIA ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม. พิจารณาอนุมัติ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
แหล่งข่าวระบุว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2566 จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่หลังจากคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แผนโครงการต่างๆ ก็อาจจะถูปรับแผนใหม่ไปด้วย แต่หากดำเนินการได้ตามแผนก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ และจะช่วยให้เกิดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
ขณะที่เอกชนผู้รับเหมางานก่อสร้างโยธาต่างก็ได้ติดตามแผนการพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมประกวดราคา เพื่อชิงส่วนแบ่งของโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเอกชนรายใหญ่รายเดิมๆ ที่จะได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และลงทุนพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ