เสร็จแล้ว!! ถนนสายอ.พังโคน – จ.บึงกาฬ เชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5   

ผู้ชมทั้งหมด 972 

กรมทางหลวง ขยาย ทล. 222 สาย อ.พังโคน – จ.บึงกาฬ  ตอน อ.ศรีวิไล – จ.บึงกาฬ แล้วเสร็จ เชื่อมโยงโลจิสติกส์ ภาคอีสาน – สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสินค้า และการท่องที่ยวประเทศไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม – จีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างโครงการทางหลวงหมายเลข 222 สาย อ.พังโคน – จ.บึงกาฬ ตอน อ.ศรีวิไล – จ.บึงกาฬ ระหว่าง กม. 97+500 – กม.113+400 รวมระยะทาง 15.9 กิโลเมตร  ในพื้นที่ อ.ศรีวิไล – อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ แล้วเสร็จ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการขนส่ง การขนส่งสินค้า และการท่องที่ยวประเทศไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม – จีน

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 222 สาย อ.พังโคน – จ.บึงกาฬ  ตอน อ.ศรีวิไล – จ.บึงกาฬ เป็นโครงการสนับสนุนนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม – โลจิสติกส์  ASEAN Connectivity สร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ กม. 97+500 ถึง กม.113+400 มีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.ชมพูพร อ.ศรีวิไล ถึง ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ มีรูปแบบการดำเนินการก่อสร้างเป็นการขยายความกว้างของคันทางจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ความกว้างของช่องจราจร 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร รวมทั้งได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เว้นแบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยกและแผงกั้นถนนคอนกรีต (Concrete Barrier) เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะเขตทางที่มีอยู่ให้เหมาะสมและสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้ทาง โดยใช้งบประมาณ 544,265,000 บาท

โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ประชาชนสามารถสัญจรและขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายการขนส่งระหว่างประเทศไทยด้านจังหวัด บึงกาฬ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ผ่านไปยังเมืองปากชัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล