“รสนา” ถาม “รัฐ” ควรปล่อยเอกชน ผลิตไฟสัดส่วนสูงเกิน 65% ต่อหรือไม่

ผู้ชมทั้งหมด 1,017 

“รสนา” ตั้งข้อสังเกต “รัฐ” ปล่อยเอกชน ผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูง 65% แถมประกันกำไรผ่านค่าความพร้อมจ่าย พร้อมอุดหนุนรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน ปีละกว่า 1.28 แสนล้านบาท เป็นการเอื้อทุนใหญ่ ดันค่าไฟฟ้าแพง ผลักภาระสู่ประชาชนหรือไม่  

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ “ รัฐ ผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ? ” โดยระบุว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปัจจุบัน เหลือยู่ประมาณ 28-30% จากปี 2547 อยู่ที่ 59% ขณะที่การประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) ทุก 1 สตางค์ต่อหน่วย จะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า 2,000 ล้านบาท ซึ่งค่าไฟฟ้าFt รอบเดือนก.ย.ปี2565 ปรับขึ้นราว 93 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของประเทศ อยู่ที่ระดับ 800,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 670,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน อยู่ที่ 65% และ กฟผ.อยู่ที่กว่า 30% แสดงให้เห็นว่า เอกชน เป็นผู้ค้าไฟฟ้ารายใหญ่ ที่มูลค่าประมาณ 520,000 ล้านบาท และ กฟผ. อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท จึงตั้งข้อสังเกตว่า เอกชนได้กินเนื้อขนาดใหญ่ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกรณีที่รัฐ เอื้อเอกชนหรือไม่

 นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ค่าไฟฟ้าแพง มาจากค่า Ft เป็นหลัก เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย และส่วนของค่าFt ที่ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ,การซื้อไฟฟ้า และนโยบายภาครัฐ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมหลักของประเทศไทยมาจาก ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย จึงมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯขึ้นตั้งแต่อดีต แต่รัฐบาล ก็ยังมีการกำหนดนโยบายให้นำก๊าซฯในอ่าว ไปใช้สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี เพราะก๊าซฯมีคุณสมบัติสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าการนำไปเผาไฟ ซึ่งประเด็นนี้ ก็ถือว่าเป็นการเอื้อเอกชนอย่างชัดเจน  

ตลอดจน การที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้าขายให้กับรัฐโดยการประกันกำไรให้เอกชน ผ่านการให้ค่าความพร้อมจ่าย(AP) ซึ่งในปี 2565 พบว่า รัฐต้องเสียค่า AP ให้กับเอกชน ถึงไตรมาสละ 7,000 ล้านบาท รวมทั้งปี ก็จะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท

อีกทั้ง นโยบายของรัฐที่มีการอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอดีตรับซื้อที่ราคา 11-12 บาทต่อหน่วย แม้ปัจจุบัน จะลดลงเหลือประมาณ 3-5 บาทต่อหน่วย แต่ก็เป็นอัตราที่กำหนดให้กฟผ.ต้องไปรับซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าราคาขายไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยรายจ่ายค่าชดเชยซื้อไฟฟ้าดังกล่าวในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 100,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่า AP จะมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 128,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผ่านไปยังค่า Ft ที่เรียกเก็บกับประชาชน ฉะนั้น นี่คือการเอื้อทุนใหญ่หรือไม่  

“ปัจจุบัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ อยู่ที่ราว 32,000 เมกะวัตต์ แต่ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม อยู่ที่กว่า 50,500 เมกะวัตต์ เกินไป 53-54% ฉะนั้น ต้องถามว่า นักการเมืองที่ทำสัญญาซื้อไฟเอกชนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอะไร เพราะคุณโง่เหรอ คุณคิดไม่เป็นเหรอ หรือว่าเพราะมันมีผลประโยชน์หรือเปล่า เพราะสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาแต่มันไม่มีใบเสร็จ เมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท เพราะฉะนั้น หากว่านักการเมืองเซ็นสัญญาซื้อไฟ ซื้อในราคาแพงกว่าราคาขายของกฟผ.แล้วก็มีค่าพร้อมจ่าย แปลว่าอะไร เอกชนที่ได้สัญญาPPA ซื้อไฟ 25 ปี ได้ทั้งค่าไฟ 5-8 บาท และได้ค่าพร้อมจ่าย 25% ก็อยากรู้ว่า คุณต้องจ่ายอะไร หรือเปล่า หรือได้มาฟรีๆ เพราะอันนี้หรือเปล่าที่ทำให้เป็นวงจรทุจริต และขอตั้งคำถาม รัฐ ผิดพลาดใน 3 เรื่อง นี้เอื้อทุนใหญ่เป็นภาระประชาชน ก็ต้องถามว่าขัดรัฐธรรมนูญไหม และก็ต้องถามต่อว่า นี่เป็นวงจรทุจริตคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดใช่หรือไม่ เพราะประเทศไทยมีภาระค่าไฟ 8 แสนล้านบาท ให้เอกชน ผลิต 5.2 แสนล้านบาท และให้รัฐวิสาหกิจ ผลิต 2.8 แสนล้านบาท ถ้ายังปล่อยให้ซื้อไฟไปเรื่อยๆ ก็จะเพิ่มไม่สิ้นสุด ดังนั้น กฟผ.แม้จะไม่แปรรูป แต่ก็เหลือแต่โครง เพราะไส้ในถูกล้วงไม่หมดแล้ว ดังนั้น อยากตั้งคำถามว่า การจะปล่อยให้เอกชน ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูง 65 % ควรจะปล่อยให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่