GPSC ผนึก กลุ่ม CIP ตั้งบริษัทร่วมทุนรุกธุรกิจพลังงานลม

ผู้ชมทั้งหมด 589 

GPSC ลงนามสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานลม กับ กลุ่ม Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ผ่านกองทุน Copenhagen Infrastructure New Markets Fund I (CI NMF I) พร้อมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เดินหน้าธุรกิจพลังงานลม โดยมุ่งเน้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศ ร่วมมือศึกษาพื้นที่ศักยภาพลม ดึงเทคโนโลยีทันสมัยจาก CIP พร้อมเข้าร่วมโครงการรัฐตามแผน PDP ของประเทศ

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ CI NMF I ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ CIP บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินเดีย และไต้หวัน โดยจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานลม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าภายในประเทศ นอกจากนี้ยังแสวงหาพื้นที่และโครงการพลังงานลมที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดย GPSC และ CI NMF I จะถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ 

โดยการร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท เนื่องจาก CIP เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการพลังงานลมทั้งด้านการสำรวจพื้นที่ทีมีศักยภาพ การบริหารโครงการก่อสร้าง และการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรเป็นผู้ผลิตกังหันลมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้สามารถต่อยอดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมภายในประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับ GPSC และประเทศไทยได้

การร่วมทุนดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานลมของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับโอกาสในการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2022) รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานลม ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน พร้อมกันกับการก้าวสู่นวัตกรรมพลังงาน เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2060

ก่อนหน้านี้ GPSC ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูงด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น การร่วมทุนกับ CI NMF I ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยโดยการต่อยอดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ภายในปี ค.ศ. 2065

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กองทุน CI NMF I ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น (Shared Purchase Agreement) ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 ใน บริษัท ยูรัสพลัส จำกัด และ บริษัท โบรีพลัส จำกัด (ซึ่งเดิมเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมด 100%) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 นับว่าทั้งสองฝ่ายมีประสบการณ์การทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี และการร่วมทุนในครั้งนี้ จะสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืนของประเทศ และขับเคลื่อนเป้าหมายของบริษัทฯ ในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป