BAFS ลุ้นปี 65 ผลงานเป็นบวก คาดยอดบริการน้ำมันโต 70% หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว

ผู้ชมทั้งหมด 680 

BAFS ปี 65 ลุ้นผลประกอบการกลับมาเป็นบวก คาดปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน 3,000 ล้านลิตรต่อปี เพิ่มขึ้น 70% หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว ขณะที่ปี 66 ตั้งเป้าให้บริการน้ำมันโต 50% พร้อมลุยขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้า เล็งร่วมชิงเค้กพลังงานทดแทน  5,000 เมกะวัตต์ ส่วนธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อคาดปีหน้ามีปริมาณ 800 ล้านลิตร

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยว่า ยอดการให้บริการน้ำมันอากาศยานเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกรากฏาคม 2565 หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายด้านสาธารณสุขและผ่อนคลายการเดินทาง ปัจจุบันให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานรวมสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง สมุย สุโขทัย ตราด ของ BAFS อยู่ที่ 10.9 ล้านลิตรต่อวัน หรือ ประมาณ  300 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งเกินตัวเลขจุดคุ้มทุนในการให้บริการน้ำมันอากาศยานของ BAFS อยู่ที่ 8.3 ล้านลิตรต่อวัน และยังเห็นทิศทางในเชิงบวก คาดว่าเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

โดยภาพรวมในปี 2565 ปริมาณการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานคาดว่าจะอยู่ในระดับ 3,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 70% ดังนั้นแนวโน้มผลประกอบการ BAFS จึงมีโอกาสกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ประสบกับปัญหาการขาดทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2564 โดยเฉพาะในปี 2564 นั้นเป็นช่วงจุดต่ำสุดของ BAFS  

ส่วนภาพรวมปี 2566 คาดการณ์ว่าการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะอยู่ที่ 4,200 ล้านลิตร หรือเติบโต 50% เนื่องจากมองว่าธุรกิจหลักให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานจะมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ก็ตาม แต่ยังมีเที่ยวบินของจีนเข้ามาอยู่เป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า เที่ยวบินนักธุรกิจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายด้านโควิดมากขึ้น และกำลังเตรียมเที่ยวบินในช่วงปลายปี 2565 เพราะฉะนั้นปลายปีนี้ต้นปีหน้าภาครวมอุตสาหกรรมการบินดีขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ผลประกอบการยังได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือที่แบ่งออกเป็น 2 โครงการระยะที่ 1 (บางปะอิน-กำแพงแพชร-พิจิตร) ระยะทาง 367 กิโลเมตร และโครงการระยะที่ 2 (กำแพงเพชร-ลำปาง) ระยะทาง 209 กิโลเมตร รวมระยะทาง 576 กิโลเมตร คาดว่าสิ้นปี 2565 จะสามารถส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือได้ราว 340 ล้านลิตร และในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลิตร เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจะส่งผลให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการขนส่งน้ำมันทางท่อมีราคาบริการที่ถูกกว่าขนส่งทางรถยนต์ที่ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อกันมากขึ้น พร้อมกันนี้ธุรกิจโรงไฟฟ้าก็เป็นปัจจัยสนุนในการเติบโตของผลประกอบการจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิตรวมกว่า 50 เมกะวัตต์ โดยได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) หมดแล้ว

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อธุรกิจหลัก จึงเริ่มเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน โดยมีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในธุรกิจดิจิตอลโซลูชั่นให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการบิน โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2569 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการบิน เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ขนส่งน้ำมันทางท่อ และดิจิตอลโซลูชั่นจะเป็น 50% ส่วนธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ BAFS จะมีสัดส่วนรายได้ที่ 50% จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน 70% ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ขนส่งน้ำมันทางท่อ และดิจิตอล อยู่ที่ 30%

ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทก็มีแผนขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเน้นลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งในประเทศไทยนั้นเตรียมเข้ายื่นข้อเสนอโครงการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวมกำลังการผลิต 5,203 เมกะวัตต์  โดยบริษัทให้ความสนใจพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนฟื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ซึ่ง ในขณะนี้ได้เตรียมฟื้นที่ไว้พร้อมแล้วจากที่ประเมินสายส่งบนที่ดินของ BAFS คาดว่าจะสามารถรองรับกับระบบสายส่งได้ประมาณ 6 เมกะวัตต์ นอกจากโซลาร์ฟาร์มแล้วยังสนใจโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และขยะชุมชนโดยจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรประมาณ 10 เมกะวัตต์

ส่วนในต่างประเทศก็ได้มองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม กลุ่มประเทศเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเป็นทั้งการเข้าไปลงทุนใหม่ และการลงทุนซื้อกิจการ M&A โดยในปี 2566 คาดว่าจะปิดดีล M&A ได้ประมาณ 8 เมกะวัตต์ ไม่นับโครงการลงทุนใหม่  

ขณะที่โรงงานผลิตและจำหน่ายรถยนต์เติมน้ำมันเครื่องบินนั้นส่งออกไปยัง สปป.ลาว และเมียนมา และอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศมาเลเซียอีกด้วย คาดว่าจะมีคำสั่งประมาณ 40 คัน ส่วนกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 12-15 คันต่อปี แต่หากอนาคตมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มอีก 2 เท่าตัวในพื้นที่เดิม นอกจากนี้ BAFS ยังมีแผนผลิตรถยนต์เติมน้ำมันไฟฟ้า (EV) ซึ่งโรงงานผลิตรถยนต์เติมน้ำมันสามารถผลิตรถยนต์ EV ได้ ในอนาคตคาดว่ารถเติมน้ำมันระบบ EV จะได้รับความสนใจมากขึ้น