ผู้ชมทั้งหมด 1,019
“เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งงบลงทุนปี 2566 วงเงินราว 30,000 ล้านบาท เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ เตรียมจับมือพันธมิตรแข่งประมูลผลิตไฟพลังงานหมุนเวียนทั้งโซลาร์ฯ และโซลาร์ผสมแบตเตอรี่ ตั้งเป้าชิงโควตา 1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปีหน้า คาดว่า จะสามารถตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้ากรียไฮโดรเจน(คลองหลวง) 5 เมกะวัตต์ได้ มั่นใจปีนี้ผลประกอบการโตกว่าปี64
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนปี 2566 “เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งงบประมาณอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท เพื่อ ซึ่งจะแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ ภายใต้แนวคิด “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” โดยมุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศจะนำโดย “เอเพ็กซ์”
ขณะที่การลงทุนในประเทศ บริษัทมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ โดยเฉพาะโรไฟฟ้าโซลาร์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ ผสมระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ซึ่งวางเป้าหมายกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการเข้าลงทุนของบริษัทเอง และการผนึกกำลังกับพันธมิตรในการเข้าร่วมประมูล เบื้องต้นได้เตรียมความพร้อมของที่ดินไว้แล้ว ทั้งที่ดินที่บริษัทและพันธมิตรเป็นเจ้าของเอง รวมถึงการเช่าที่ดินที่มีสัญญารองรับแล้ว ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบความพร้อมของสายส่งที่จะรองรับแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัท ยังจะพัฒนาพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ได้แก่ การลงทุนในโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้า “คลองหลวง” จ.ปทุมธานี กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ที่จะเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้ากรีนไฮโดนเจน ซึ่งคาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ในปีหน้า โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และการดีมานด์จากลูกค้าอุตสาหกรรม รวมถึงยังมองโอกาสขยายความร่วมมือธุรกิจต้นน้ำ(กรีนไฮโดรเจน) ด้วย ทั้งผ่านความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียที่บริษัทมี MOU อยู่แล้ว และจากความร่วมมือภายใต้MOUร่วมของ กฟผ.ในอนาคตด้วย
อีกทั้ง บริษัทจะบริหารสินทรัพย์และโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและนำมาใช้กับโรงไฟฟ้า เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage – CCS) และการศึกษาเพื่อนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2573
“ปีหน้า จะมีกำลังการผลิตใหม่ที่ทยอยCOD เพิ่มเติม เช่น โรงไฟฟ้า “หยุนหลิน” ในไต้หวัน โรงไฟฟ้า APEX ในสหรัฐ และโรงไฟฟ้าEGCO Cogen หรือต้องหากำลังผลลิตใหม่เพิ่มประมาณ 800 เมกะวัตต์”
อย่างไรก็ตาม ในปี2566 การดำเนินธุรกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน บริษัท จึงพยายามรักษาเครดิตเรตติ้ง และถือกระแสเงินสดในมือไว้ โดยปกติบริษัท จะถือเงินสดอยู่ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท แต่ในปีหน้าจะถือเพิ่มเป็นระดับกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้านั้น ในส่วนของการลงทุนโครงการใหม่บริษัทจะพยายามบริหารจัดการลงทุนด้วยกระแสเงินสดก่อน แต่หากไม่ไหวก็อาจต้องส่งผ่านต้นทุนลงไปที่โครงการ ซึ่งในปีหน้า ยังไม่มีแผนรีไฟแนนท์ แต่หากมีการลงทุนในโครงการไม่ใหญ่ก็จะใช้เงินสดที่มีอยู่ แต่หากเป็นการเข้าลงทุนในโครงการใหญ่ ก็อาจพิจารณาการระดมทุนทั้งในรูปแบบการออกหุ้นกู้ หรือ การกู้จากสถาบันการเงิน โดยในส่วนของการออกหุ้นกู้นั้น ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯไว้แล้ว ที่ระดับไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตกว่าปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ลดลง ส่งผลให้ดีมานด์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะเดียวกันบริษัท ยังได้ประโยชน์จากการทยอยCOD โรงไฟฟ้าใหม่เพิ่ม และโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่มีประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้าในระดับสูง
ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง มีกำไรจากการดำเนินงาน 10,345 ล้านบาท ปัจจัยหนุนจากรายได้ค่าขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ต่อเนื่อง ด้วยการซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม “ไรเซ็ก” (RISEC) รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งความสำเร็จในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างบริษัทในกลุ่ม กฟผ. และกระทรวงการลงทุน แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ด้านพลังงานสะอาด
โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 46,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงาน 10,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,290 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงไฟฟ้า “พาจู อีเอส” มีรายได้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้า “ขนอม” โรงไฟฟ้า “ไซยะบุรี” และโรงไฟฟ้า “แก่งคอย 2” มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565
ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,377 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมสูงถึง 1,424 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (“ทีพีเอ็น”) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม “เอ็กโกระยอง” ตลอดจนยังได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (“เพียร์ พาวเวอร์”) บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (“อินโนพาวเวอร์”)