“OR” พี่เลี้ยงปลูกปั้น “โอ้กะจู๋” ดันธุรกิจร้านอาหารดาวรุ่งขยายเครือข่าย สู่เส้นชัยเข้าระดมทุนปี67

ผู้ชมทั้งหมด 1,993 

เทรนด์การรักสุขภาพ ที่เข้ามามีบทบาทแพร่หลายในสังคมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพกลายเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของการลงทุน และหากจะให้แนะนำอาหารเพื่อสุขภาพ “สลัดผัก” ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่หลายคนนึกถึง แต่การจะกินผักเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพนั้น “ผักอินทรีย์” ก็ถือว่าตอบโจทย์ เพราะปลอดภัยจากสารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“โอ้กะจู๋” ร้านอาหารแบรนด์ดังขึ้นชื่อในจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นร้านยอดฮิตตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ให้ความสำคัญกับสุขภาพ จากจุดเด่นเรื่องความสดใหม่ของผักที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และส่งตรงจากฟาร์มผักขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อได้ว่า ผู้บริโภคที่เคยลิ้นรสอาหารเมนูต่างๆของ “โอ้กะจู๋” ไม่ว่าจะเป็น สเต็ก สลัด แซนวิซ น้ำผลไม้ ก็ต้องติดใจในรสชาติที่อร่อยถูกปากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนการจัดจานเสิร์ฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อัดแน่นด้วยผักสลัด ตามคอนเซ็ปต์ที่ต้องการสร้างความสุขในการทานอาหารแบบครอบครัว

ด้วยอนาคตที่สดใสของ “โอ้กะจู๋” เพราะยังสามารถต่อยอดการขยายธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ “โอ้กะจู๋” เป็นธุรกิจSME เนื้อหอม และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์(OR) ได้ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ด้วยสัดส่วน 20% ภายใต้วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท นับเป็นดีลที่เกิดขึ้นตามกลยุทธ์ของ OR ที่จะเพิ่มผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจ Non-oil โดยการแสวงหาโอกาสและช่องทางในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมชุมชน ผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง OR จึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ในการเพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจ (Scale up)

และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่ต้องการทานอาหารรักสุขภาพของ “โอ้กะจู๋” ไม่ต้องเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ หรือ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น เพราะ “โอ้กะจู๋” มีแผนที่จะขยายร้านอาหารออกสู่หัวเมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัด เพื่อเสิร์ฟอาหารสุขภาพให้ทั่วถึงคนไทยทั้งประเทศ

สุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า OR จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการพา “โอ้กะจู๋” เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี2567 ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้บริหารโอ้กะจู๋ และที่สำคัญโอ้กะจู๋ ก็มีความพร้อมแล้ว โดยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 ปี2565 เป็นบวก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคาดว่าในไตรมาส 4  ปีนี้ผลประกอบการก็จะยังเป็นบวกเช่นกัน

อีกทั้ง ในปี 2566 จะมีแผนขยายร้านอาหารทั้งในและนอกสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน และเปิดพื้นที่ขยายในสาขาอเมซอนด้วย จากปัจจุบันมีหน้าร้านอยู่ 18 แห่ง และ 40 จุดจำหน่ายในอเมซอน

ดังนั้น ปัจจุบัน โอ้กะจู๋ ก็อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องของซัพพลายเชน วัตถุดิบ ทั้งการปลูกผัก และ กระบวนการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของธุรกิจอาหารในอนาคต ซึ่งก็ขอให้มั่นใจได้ว่า โอ้กะจู๋ จะเป็นอีกธุรกิจที่มีความพร้อมในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“OR จะต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ รวมถึงดูโมเดลธุรกิจของ โอ้กะจู๋ ว่าจะเพิ่มทุนอย่างไร แต่ที่แน่ๆ OR ยังคงเป้าหมายที่จะถือหุ้นใน โอ้กะจู๋ ไม่เกิน 20% โดยในระยะสั้นปีหน้า OR ได้ให้โจทย์ว่า โอ้กะจู๋ จะต้องเร่งขยายสาขาให้มากกว่าปีนี้ ซึ่งก็ได้มีการวางเน็ตเวิร์คร่วมกันแล้วทั้งในปั๊มและนอกปั๊ม และที่ผ่านมา OR ได้ให้โอกาสโอ้กะจู๋ ในการเลือกพื้นที่ที่ดีในการเปิดร้าน จะเห็นว่าสาขาแรกในเมืองทองขายดีมาก และกำลังจะเปิดสาขาที่ 2 บางใหญ่ เป็นลักษณะ “ไดร์ฟ-ทรู” และโอ้กะจู๋ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งใน “ซูเปอร์แอป” ที่จะนำมาบริหารจัดการการใช้ดาต้าร่วมกันของOR ในอนาคต”

สำหรับแนวทางการเติบโตของ “โอ้กะจู๋” หลังจากการเพิ่มทุนของ OR นั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขยายธุรกิจให้เติบโต โดยแผนการลงทุนของ โอ้กะจู๋ ที่ OR เข้าไปมีส่วนสนับสนุนประกอบด้วย 1.การขยายสาขา (Store Expansion): โดยบริษัทตั้งเป้าขยายสาขาปีละประมาณ 5 แห่ง และมีแผนขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดภายในระยะ 5 ปี

2.การปลูกผัก (Farming): การขยายฟาร์ม เพิ่มจำนวน 100 ไร่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และมีการนำเทคโนโลยี Smart Farm มาใช้ในการบริหารฟาร์มฯ เพื่อทำให้ได้ผักสดที่สม่ำเสมอ

3.ครัวกลาง (Central Kitchen): การก่อสร้างครัวกลาง พื้นที่ 7 ไร่ ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับความต้องการวัตถุดิบที่ครอบคลุม (ซอส, น้ำสลัด, เนื้อสัตว์, และน้ำผลไม้) ของสาขาปัจจุบันและการขยายสาขาในอนาคต

สุชาติ มองว่า การผลักดันให้ โอ้กะจู๋ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่พี่เลี้ยงที่ส่งถึงเส้นชัยแล้ว เพราะที่ผ่านมาราว 2 ปีกว่า OR ก็ได้เข้าไปช่วยพัฒนากระบวนการต่างๆ เช็ตระบบ แชร์ประสบการณ์ องค์ความรู้ พร้อมส่งคนมีประสบการณ์เข้าไปช่วยให้กระบวนการต่างๆให้เติบโตได้ และวันนี้ โอ้กะจู๋ ก็มีความพร้อมแล้ว ก็ถือเป็นการให้โอกาสกับธุรกิจดาวรุ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และนับเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายของ OR

สำหรับ “โอ้กะจู๋” ร้านอาหารยอดฮิตในใจใครหลายๆคนในวันนี้ มีจุดริเริ่มมาจากความต้องการทำเกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มเพื่อนรัก 3 คน คือ ชลากร เอกชัยพัฒนกุล (อู๋) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด, จิรายุทธ ภูวพูนผล (โจ้) ประธานเจ้าหน้าที่เกษตรอัจฉริยะ และวรเดช สุชัยบุญศิริ (ต้อง) ประธานเจ้าหน้าที่ supply chain ที่ร่วมใจกันปลูกผักอินทรีย์จากทุน 50,000 บาท บนพื้นที่ราว 1 ไร่ และต่อยอดสู่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนและเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ จนปัจจุบัน โอ้กะจู๋ ก้าวสู่ธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าพันล้านบาท

โอ้กะจู๋ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด และเมื่อได้มาเจอกับ OR ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีจริต หรือ มี DNA บางส่วนคล้ายกันในเรื่องความยั่งยืน และการให้โอกาสกับSME ต่างๆ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจของ โอ้กะจู๋ และ OR  ที่จะขยายการเติบโตร่วมกับต่อไปในอนาคต  

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” หรือ OKJ ระบุว่า หลังจากได้ Synergy กับ OR ทางโอ้กะจู๋ ก็มีโอกาสเรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทั้งการเปิดสาขาที่ตึกเอนโก้ การขยายจุดจำหน่ายในร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่ปัจจุบันมีอยู่ 40 สาขา และปี 2566 จะเพิ่มเป็น 80 สาขา และมีร้านอาหาร อยู่ 18 สาขา

ปัจจุบัน โอ้กะจู๋ มีโมเดลธุรกิจ อยู่ 4 รูปแบบ คือ 1.การให้บริการทั้งแบบ Dine-In, Takeaway 2. Delivery 3. จุดจำหน่ายผ่านร้านคาเฟ่ อเมซอน และ4. ในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยมีเมนูอาหารที่หลากหลาย (Variety) ทั้งผักสลัด สปาเก็ตตี้ และอาหารจานเดียว และรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค ที่สำคัญ ราคาเข้าถึงได้ (Affordable Price)

โดย โอ้กะจู๋ มีฟาร์ม 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 380 ไร่ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.5 ตันต่อวันในช่วงฤดูฝน แต่ช่วงพ้นฤดูฝนจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 5 ตันต่อวัน และมีครัวกลางบนพื้นที่ 7 ไร่ ประกอบด้วย 4 ไลน์การผลิต คือ 1.น้ำสลัด 2.ซุปและซอส 3.เครื่องดื่ม(น้ำสกัดเย็น) และ4.เนื้อสัตว์ ซึ่งพยายามสรรหาวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด และปัจจุบันครัวกลาง มีการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 30% เท่านั้น ทำให้ยังมีกำลังการผลิตเหลือที่จะรองรับการขยายสาขาในอนาคต โดยมีกำลังคนกว่า 1,700 คน มีลูกค้าเข้าร้านมากกว่า 250,000 คนต่อเดือน และมีการระบบ ERP ใช้ในการวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานหลัก การผลิต การบริการ การเงิน และกระบวนการอื่นๆ ขององค์กรโดยอัตโนมัติ

สำหรับเป้าหมายการเติบโตนั้น บริษัทฯ มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2567 เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนใน 3 ส่วน ได้แก่ การขยายสาขาแบรนด์โอ้กะจู๋, ขยายแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ , พัฒนาแฟลตฟอร์มรองรับการขาย, ขยายฟาร์ม และใช้คืนหนี้สินบางส่วน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนราว 225 ล้านบาท โดยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 80 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมวางเป้าหมายรายได้ในปี 2567 เติบโตแตะ 2,000 ล้านบาท จากปี2565 คาดว่าจะทำได้ 1,200 ล้านบาท นับเป็นการเติบโตตามการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

โดยปี 2566 มีแผนจะทำโมเดลใหม่เปิดเป็นลักษณะ “ไดร์ฟ-ทรู” ที่ PTT Station สาขาบางใหญ่ และมีแผนขยายสาขาออกสู่ภาคตะวันออก ทั้ง ระยอง ชลบุรี ศรีราชา รวมถึงในอนาคตจะขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัด และมองโอกาสเติบโตในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV ด้วย

ชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่สำนักนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ระบุว่า หลังจากมีพันธมิตรคือ OR เข้ามาร่วมทำธุรกิจแล้ว ก็มองว่า การขยายสาขาของโอ้กะจู๋ ที่จะมากยิ่งขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจประสบปัญหาผักไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะลงทุนขยายพื้นที่ปลูกผักบริษัทสามารถทำได้เองอยู่แล้ว แต่ก็มองว่าทำไมจะต้องทำทุอย่างคนเดียว สู้นำโอกาสไปแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์น่าจะดีกว่า บริษัท จึงนำองค์ความรู้การปลูกผักอินทรีย์เข้าไปแลกเปลี่ยน และส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านบนดอย ซึ่งทำงานร่วมกันมาหลายปีแล้ว และปัจจุบันสามารถรวบรวมเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์เพื่อป้อนให้กับบริษัทได้พอสมควรแล้ว อีกทั้งยังมั่นใจในมาตรฐานและคุณภาพได้ เพราะมีการส่งทีมงานเข้าไปสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป คนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้รับทานผักอินทรีย์ที่เกษตรกรปลูกส่งให้ถึงมือลูกค้า ผ่านสาขาในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 18 สาขา(ณ สิ้นปีนี้) โดยลูกค้า สามารถสั่งซื้อผักผ่านแอพพลิเคชั่น ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป ถึงเวลา 03.00 น.ของอีกวัน รถส่งผักจะเคลื่อนออกจากศูนย์กระจายสินค้า(DC) ในช่วงเวลา 05.00น. และไม่เกิน 10.00น. ทาง ไรเดอร์จะมารับผักตามสาขาไปส่งถึงมือลูกค้าที่บ้าน ซึ่งการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรบนดอยที่เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ปลุกผักอินทรีย์ด้วยกัน

รวมถึง โอ้กะจู๋ ยังเตรียมนำผักอินทรีย์ซึ่งเป็นผักเกรด B และเกรด C หรือที่เรียกว่า ผักตกเกรด ซึ่งเดิมเกษตรกรปลูกแล้วจะไม่มีรายได้ในส่วนนี้ เพราะไม่สามารถขายได้ต้องนำไปทิ้ง หรือ ทำปุ๋ยกับเลี้ยงสัตว์เท่านั้น จะขายได้เฉพาะผักเกรด A ดังนั้น โอ้กะจู๋ มีแผนที่จะนำผักเกรดB และC ไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีความเข้าใจ และเห็นใจเกษตรกรได้เข้าถึงผักอินทรีย์ในราคาที่ถูกลง และยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งคาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 2566 และผักดังกล่าวจะส่งตรงจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ    

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 OR และ โอ้กะจู๋ ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนผักโอ้กะจู๋ ดอยสะเก็ต (สวนปลูกผักเพราะรักพ่อ บ้านสันอุ้ม ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ต) มีพื้นที่ 120 ไร่ โดยสวนผักแห่งนี้ มีการปลูกผักกว่า 30 ชนิด ใช้เวลาปลูกเฉพาะ 40-45 วัน มีการปลูกดอกไม้ทานได้ ประมาณ 5 ชนิด และปลูกผักทานผลได้ อีกประมาณ 5-6 ชนิด ในแต่ละวันสวนผักฯ จะดำเนินการใน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ที่จะนำมาปลูกจะต้องผ่านการวิจัยและพัฒนาจากทีมวิจัยและพัฒนาฯมาอย่างดีแล้ว 2. การเตรียมแปลง 3.การย้ายปลูก ซึ่งเดิมสวนผักจะใช้วิธีการปลูกลงดิน ทำให้ได้ผลผลิตน้อย แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาปลูกลงบนภาชนะปลูกทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นและปลูกได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องพักแปลง

4.การดูแลระหว่างปลูก ถือเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะการปลูกระบบอินทรีย์ไม่สามารถใช้สารเคมีเพื่อกำจัดเมลงได้ 5. เก็บเกี่ยว และ 6.กระบวนการล้างผัก ก่อนขนส่งตรงเข้าสู่สาขาต่างๆและในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยแต่ละขั้นตอนได้นำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามายกระดับเป็น Smart farm มีการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ สั่งซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่น มาใช้เพาะต้นกล้า ปรับโรงเรือนติดพัดลมเดินน้ำปรับอากาศควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ เตรียมวัสดุ และการปลูกให้เหมาะสม ใส่ปุ๋ย​ไส้เดือนที่เลี้ยงเองเพิ่มความหวาน ขณะที่กระบวนการตัดแต่ง ล้างผักยังเติมก๊าซฯ CO2 เพื่อช่วยกำจัดหนอนและแมลงที่อาจปนเปื้อน พร้อมเติมก๊าซฯในการยืดอายุผักเพื่อคงความสดใหม่

ตลอดจน สวนผักฯ ยังได้จัดทำโรงปุ๋ยอินทรีย์ที่เรียกได้ว่า เป็นโรงปุ๋ยฯที่สมบูรณ์แบบที่สุดของภาคเอกชน และให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะหัวใจสำคัญของการปลูกผักอินทรีย์ คือ ปุ๋ย ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นในการให้อาหารกับพืช ถือได้ว่า สวนผักโอ้กะจู๋ ดำเนินทุกกระบวนการผลิตผักออร์แกนิค(อินทรีย์) ตอบโจทย์การทำธุรกิจที่ใส่ใจชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม