ผู้ชมทั้งหมด 379
พ.ย.นี้ ทอท. ชงผลศึกษา 3 สนามบิน ทย. “อุดรฯ-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้คมนาคมส่งต่อครม. อีกรอบ คาดกลางปี 66 ได้เข้าบริหารเต็มตัวอย่างเป็นทางการ
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบในหลักการให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน( ทย.) จากเดิม 4 แห่ง เหลือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ นั้น ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติมตามข้อคิดเห็นของกระทรวงการคลัง อาทิ การอุดหนุนรายได้ให้กรมท่าอากาศยาน(ทย.) ความคุ้มค่า และฐานะทางการเงิน พร้อมทั้งนำความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการ คาดว่าจะศึกษาเพิ่มเติมแล้วเสร็จ และนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน พ.ย.65 จากนั้นนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง
นายนิตินัย กล่าวว่า หาก ครม. เห็นชอบ ทางสำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องดำเนินการออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้กับ 3 สนามบินให้แล้วเสร็จ และในระยะแรก ทอท. จะเข้าไปบริหารจัดการ 3 สนามบินคู่ขนานกับ ทย. โดยระหว่างนั้นต้องดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ให้แล้วเสร็จ รวมถึงเรื่องบุคลากร ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการโอนย้ายคบุคลากรของ ทย. มายังทอท. แต่บุคลากรของ ทย. ที่จะมาอยู่ ทอท. ต้องลาออกก่อน และ ทอท. จะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ อาทิ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ที่จะนำมาประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการทุกเรื่องตามขั้นตอนกฎหมายที่ถูกต้องแล้ว คาดว่าประมาณกลางปี 66 ทอท. จะสามารถเข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 สนามบินแบบเต็มตัวได้อย่างเป็นทางการ ส่วนของรายได้ที่ ทอท. จะชดเชยให้ ทย. หลังจาก ทอท.เข้าบริหาร 3 สนามบินแล้วนั้น ในหลักการ ทย. ต้องมีเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเท่าเดิมกับเมื่อครั้งที่ ทย. บริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานดังกล่าวอยู่ เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. ทั้ง 26 แห่งที่เหลือ ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ทอท. จะสามารถดำเนินการชดเชยเงินเข้ากองทุนฯ ให้ ทย. ได้หรือไม่ อย่างไร
นายนิตินัย กล่าวอีกว่า ทอท. ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง โดยยังคงกรอบวงเงินลงทุนเดิมเบื้องต้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร รวมทั้งติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) อย่างไรก็ตามระยะแรก ทอท. ไม่ได้คาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร หรือปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร แต่จะดำเนินการให้สนามบิน โดยเฉพาะสนามบินอุดรธานี และบุรีรัมย์ เป็นศูนย์กลางการบิน(ฮับ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับการบินตรงเส้นทางบินระหว่างประเทศให้ได้ก่อน เพื่อดึงผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดิมต้องมาเปลี่ยนเที่ยวบินภายในประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สามารถมาลงที่ท่าอากาศยานอุดรธานี และบุรีรัมย์ได้เลย
นายนิตินัย กล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือสนามบินพังงา และท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือสนามบินลำพูนนั้น ที่ผ่านมา ทอท. ได้ทำการศึกษาแล้ว แต่เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าควรว่าจ้างหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ศึกษาเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น ทอท. จึงได้เตรียมว่าจ้างศึกษา แต่เนื่องจากมีนโยบายเรื่องการให้ ทอท. บริหาร 3 สนามบิน ทย. ทางกระทรวงคมนาคมจึงให้รอผลการเข้าบริหาร 3 สนามบินของ ทย.ก่อน เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางของผู้โดยสารยังไม่กลับมาปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จึงทำให้ขณะนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ยังสามารถรองรับปริมาณการเดินทางเข้า-ออกของผู้โดยสารได้อยู่