รฟท.เปิดใช้โมงค์ลอดใต้ทางรถช่วงบางซื่อ-จตุจักร- วัดเสมียนนารี 1 พ.ย. นี้  

ผู้ชมทั้งหมด 474 

การรถไฟฯ เตรียมความพร้อมอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟและถนนรถไฟ ช่วงบางซื่อจตุจักร– วัดเสมียนนารี ก่อนเปิดใช้งาน 1 .นี้

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นายนิรุฒ มณีพันธ์ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟและถนนรถไฟ ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการเชื่อมโครงข่ายการจราจรรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สำหรับใช้เชื่อมต่อระหว่างถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจตุจักร กับถนนรถไฟ ช่วงบางซื่อ – จตุจักร – วัดเสมียนนารี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมาใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรให้แก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาในละแวกใกล้เคียง

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้เร่งรัดเข้าดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบสูบน้ำภายในอุโมงค์ และร่วมกับสำนักงานเขตบางซื่อ สำนักงานเขตจตุจักร สน.เตาปูน สน.ประชาชื่น ตำรวจรถไฟ SCG และสำนักงานประปา สาขาพญาไท ฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจราจร จัดเก็บขยะมูลฝอยจนเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเปิดใช้งานตามกำหนดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง ให้เข้ามาดำเนินการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อให้บริการเป็นทางสาธารณะ สำหรับให้ประชาชนใช้ในการสัญจร ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนให้เคลื่อนย้ายรถยนต์ที่จอดกีดขวางการจราจรบริเวณริมถนนและทางเข้า-ออกอุโมงค์  โดยเมื่อเปิดใช้บริการแล้วอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟและถนนรถไฟ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณแยกช่วงบางซื่อ-จตุจักร- วัดเสมียนนารี และสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จะเดินทางมายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากลุ่มคนร้ายเข้ามาทำความเสียหายกับทรัพย์สินราชการในอนาคตการรถไฟฯ และกองบังคับการตำรวจรถไฟ ได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ออกตรวจตราพื้นที่โดยรอบอุโมงค์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การรถไฟฯ ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียง ช่วยสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา ป้องกันไม่ให้บุคคลใดเข้ามาสร้างความเสียหายระบบสาธารณประโยชน์ รวมถึงช่วยกันไม่ทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลลงบนพื้นผิวจราจร เพื่อทำให้อุโมงค์สามารถใช้งานและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมในระยะยาวสืบไป