“รัฐ-เอกชน” งัดแผนขับเคลื่อน ประเทศ-ธุรกิจ สู่เป้าหมาย Net Zero ปี2065

ผู้ชมทั้งหมด 1,076 

“พลังงาน” เร่งจัดทำแผนพลังงานชาติ หนุนประเทศก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี2065 คาดเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี66 หันเพิ่มลงทุนพลังงานสะอาด แตะ 50% ส่งเสริมใช้รถอีวีทั้งระบบ ขณะที่ “GC” ตั้งงบ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 30 ปีข้างหน้า ปรับพอร์ตธุรกิจ สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ในปี 2593

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนากยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ “พลังงาน : วาระประเทศไทย 2023” ในงานสัมมนา “Energy For Tomorrow วาระโลก วาระประเทศไทย 2023” โดยระบุว่า ทิศทางพลังงาน หากมองย้อนไป 1-2 ปีที่ผ่านมา เกิดสิ่งที่ทั่วโลกไม่เคยเจอมาก่อน คือเรื่องของกำลังการผลิตพลังงาน และความต้องการใช้พลังงานปรับลดลงหลังเกิดวิกฤตโควิด-19  และปลายปี 2564 เศรษฐกิจประเทศแถบตะวันตกเริ่มดีขึ้นหลังมีการค้นพบวัคซีน ทำให้ดีมานด์การใช้พลังงานกลับมาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ซัพพลายยังต้องใช้เวลา ราคาพลังงานจึงปรับสูงขึ้น รัฐบาลก็เข้าไปดูแล คิดว่าเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

แต่แล้วต้นปี 2565 ก็ส่อเค้าเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียด สร้างความไม่สมดุลพลังงานขึ้น หลังรัสเซียเคยซัพลลายพลังงานให้กับยุโรป แต่ก็เกิดผลกระทบขาดแคลนพลังงาน หลังยุโรปตัดสัมพันธ์รัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

รัฐบาลเอง ก็พยายามหามาตรการช่วยเหลือ โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาพยุงราคาจนมีภาระคงค้างนับแสนล้านบาท และต้องกู้เงินมาทยอยจ่ายคืนต่อไป เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่จบ ขณะเดียวกัน ประเทศไทย เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน 80% จากต่างประเทศ ในส่วนของก๊าซฯ มีการนำเข้า 20-30% แม้จะผลิตได้จากในประเทศบางส่วน และไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการนำเข้า ไว้แล้ว ก็ราคานำเข้าก๊าซฯ ก็แพงขึ้น 5 เท่าตัว ส่งผลต่อต้นทุนราคาก๊าซฯ ในประเทศ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อลดนำเข้าก๊าซฯ 30% ลงให้ได้

ส่วนราคาน้ำมัน รัฐบาล ยืนยันจะดูแลราคาดีเซล ไม่ให้กระทบต่อเงินเฟ้อ หรือ ถ้าหันไปให้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ก็จะเกิดการประหยัดน้ำมัน

“วันนี้ ตัวเลขดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ราคาพลังงาน ยังไม่เปลี่ยนแปลง และ ยังเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ ก็ฝ่ายหนึ่งมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนเดียว 4 ครั้ง ครั้ง 75 สตางค์ก็ไม่เคยเกิดขึ้นและอีกกลุ่มก็ตัดสินใจลดดำลังผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับขึ้น อีกทั้งท่อก๊าซฯในรัสเซีย อยู่ๆ ก็ท่อแตก และหาสาเหตุไม่เจอ ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่กดดันราคาพลังงานโลกให้อยู่ในระดับสูง”

ดังนั้น ประเทศไทย ต้องร่วมมือกันประหยัดการใช้พลังงานลง 20% จะช่วยประเทศประหยัดเม็ดเงินนำเข้าพลังงานได้เป็นแสนล้านบาท

นอกจากนี้ โลก ยังมีวาระสำคัญเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ แก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งประเทศไทย ก็เข้าร่วมเวที Cop 26 ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) โดยไทย จะใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน จะเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น มีการส่งเสริมใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ทันสมัย

รวมถึง ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไฮโดรเจน นำมาเป็นพลังงาน เป็นต้นทุนยังแพงอยู่ ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา ตลอดจนการทำเรื่องของการกักเก็บพลังงาน ซึ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วม และการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคต

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่ประมาณปีละ 350 ล้านตันต่อปี ถือว่าสูงในอันดับต้น ๆ ของโลก หากไม่ทำให้เป็นศูนย์ ก็จะเป็นภาระของประเทศในอนาคต”

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่ง ค่าย MG ก็ได้เข้าร่วมโครงการรัฐบาล โดยนำรถอีวี เข้ามาก่อน แต่ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการนำเข้า ก่อนลงทุนจัดตั้งโรงงาน 2-3 ปีจากนี้ ล่าสุด BYD ก็เข้ามาแล้ว และจะนำไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบัน รถอีวีในไทย มียอดขาย โต 275% หรือ กว่า 1 หมื่นคันในรอบ 9 เดือนของปีนี้ ถือว่าเติบโตสูงมาก

ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้า  ณ เดือน ก .ย.2565  อยู่ที่ 869 แห่ง กว่า 2,572 หัวจ่ายแล้ว และจะขยายเพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐ ที่ตั้งเป้าผลิตรถในไทยจะเป็นรถอีวี   30% ในปี 2030 อีก 8 ปีข้างหน้า

“ถ้าเรา บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี ค.ศ.2065 จะทำให้ประเทศเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เกิดการทำธุรกิจให้เข้าสู่วิถีของคนรุ่นใหม่ๆ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการศึกษาพบว่า ประเทศไทย มีแหล่งในทะเล ที่มีลักษณะเป็นโพรงนำเกลือ ที่คาดหมายว่า จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 7,000 ล้านตันสูงสุดในภูมิภาคนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาในการสำรวจ หากประสบความสำเร็จก๊าซฯ ที่เรามีอยู่สามารถเอาไปกักเก็บคาร์บอนได้เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ และอนาคตของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่วางไว้ก็จะเกิดได้เร็วขึ้น ประเทศอื่นๆ ก็จะย้ายฐานเข้าลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ไทยได้โอกาส จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าดึงดูดการลงทุนเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทั้งยายนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวบรรยายพิเศษ “Road Map พลังงานไทย” ว่า ไทย วาง “Road Map พลังงานไทย” สอดรับทิศทางของโลก ที่วาง 5 แนวทางหลักไปสู่ Carbon Neutrality ได้แก่ 1. เพิ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ ลม ชีวมวล น้ำ 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การใช้พลังงานไฟฟ้า 4.ไฮโดรเจน และ 5. เทคโนโลยี CCUS เพื่อเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม ไม่สู่การใช้พลังงานสะอาด   

โดยประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ได้ปรับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ดังนี้ 1.เพิ่มการผลิตไฟ้ฟาจากพลังงานหมุนเวียน มากกว่า 50% ควบคู่เรื่องของแบตเตอรี่ เช่น เรื่องของโซลาร์ คาดว่า จะมีการใช้มากว่า 25,000 เมกะวัตต์ในปี 2050 ,การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) ,การใช้ไฮโดรเจน มาควบคู่ CCS และ CCUS

2. เรื่องของอีวี จะเพิ่มการใช้ 30-50% และอนาคตจะเป็น 100%  รวมถึงต้องมีปั๊มชาร์จถึง 12,000 สถานี ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มรองรับรถอีวี

3.เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แตะ 30- 40% เช่น เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าปัจจุบัน  

และ4.ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 4D1E  เช่น เรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่สมาร์ทมากขึ้น จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ,การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น

ดังนั้น ประเทศไทย จะต้องดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการพลังงานแห่งอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. Smart Infrastructure ที่เป็นการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารและด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถรองรับการบริหารจัดการสมัยใหม่ตามแนวทางเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

2.Market & Price Structure การปรับโคงสร้างตลาดและโครงสร้างราคา ให้สามารถตอบโจทย์ของการใช้งานแหล่งพลังงานกระจายศูนย์และสะท้อนต่อการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้าร่วมบริหารจัดการในตลาดพลังงาน

3.Law & Regulation ปรับกฎหมายและระเบียบต่างๆรองรับการส่งเสริมตลาอการผลิตและใช้พลังงานผ่านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีกระจายศูนย์

ทั้งนี้ แผนดังกล่าว จะต้องโจทย์แนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงานDecentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า)

 “ตอนนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำ 5 แผนย่อย ที่จะประกอบในแผนพลังงานชาติ ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมาย Carbon Neutrality คาดว่า ในไตรมาส 4นี้  จะแล้วเสร็จทั้ง 5 แผน และนำไปเปิดรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำแผนพลังงานชาติ ให้เสร็จในไตรมาส 1 ปีหน้า และเข้าสู่กระบวนการอนุมัติของ กพช. และครม. ต่อไป คาดว่า จะนำไปใช้ได้ในไตรมาส 2  ปี66

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC กล่าวบรรยายพิเศษ “ธุรกิจยั่งยืน ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero” ว่า GC มุ่งเป้าหมายที่สำคัญ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ESG…สู่ธุรกิจยั่งยืน โดย ธุรกิจ องค์กรภาครัฐ จะต้องสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ให้เกิดสมดุลตลอดวงจรธุรกิจ ทั้ง บุคลากร นักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล นักเคลื่อนไหว และคู่ค้า ซึ่งการทำเรื่องของ ESG จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว  

2.Climate Change…วาระโลก วาระประเทศไทย โดย “ภาวะโลกร้อน” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และไทย ก็เป็น Top 10  ที่ได้รับผลกระทบโลกร้อนอันดับต้นๆของโลก โดยใน 7-10 ข้างหน้า ผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะลดลง ส่งผลกระทบต่อ GDP ซึ่งหากประเทศในโลก ได้ออกกฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้ง มาตรการทางภาษีลดการปล่อยคาร์บอน โดยประเทศไทย ก็มีนโยบายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) ซึ่งภาคเอกชนไทย ก็มีแผนที่จะดำเนินการ และจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ

3. พลังงานกับ Net Zero โดยเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องปรับรูปแบบการใช้พลังงานให้สะอาด และลดการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตาม 4 แนวทางของรัฐ ก็จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ทั้งเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น การส่งเสริมใช้รถอีวี เป็นต้น ขณะที่เศรษฐกิจยังเข้าสู่ภาวะถดถอย การลงทุนด้านพลังงานก็ยังจำเป็นต้องเดินหน้าต่อภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทาย

4. GC กับการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่ง GC จะบูรณาการความยั่งยืน เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050 โดยบริษัท ยังต้องเป้าหมายที่จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิต่อเฉลี่ยปีละ 4% ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทุนปรับโครงสร้างธุรกิจ คาดว่า จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 30 ปีข้างหน้า ขับเคลื่อนธุรกิจตาม กลยุทธ์การดำเนินงานเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ จะอยู่ภายใต้ 3 เสาหลัก (Three-Pillar Low Carbon Transition Framework) ประกอบด้วย

1. Portfolio-driven การบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของ GC Group ผ่านนวัตกรรมและการลงทุน โดยการปรับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอไปสู่ธุรกิจและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ อาทิเช่น การลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุหมุนเวียน คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25%

2. Efficiency-driven การเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ โดยใช้หลัก “5R” และเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเทคโนโลยีที่มีอยู่และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลังงาน นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ และแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20%

3. Compensation-driven เป็นเสาหลักสุดท้ายของกรอบนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยทางแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) รวมทั้งการจัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการดักจับคาร์บอน ผ่านแนวทางต่าง ๆ ได้แก่ Corporate Venture Capitals การสร้างพันธมิตร และการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 55%