ผู้ชมทั้งหมด 1,129
AOT แย้ม ก.พ.นี้ เตรียมคัดเลือกเอกชนเช่าพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ 1,200 ไร่ในท่าอากาศสุวรรณภูมิ จ่อไฟเขียวโปรเจ๊กใหญ่ 3 โครงการ ตลาดกลางสินค้าเกษตร – คลังสินค้า – ศูนย์ฝึกนักบิน หวังดันรายได้จาก Non-Aero เป็น 50% ภายในปี 65-66
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนจัดหารายจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aero) โดยการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่นอกอาคารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นเป็นแผนหนึ่งที่จะผลักดันให้รายได้จาก Non-Aero เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้พื้นที่นอกอาคารที่จะสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้เหลืออยู่ 1,200 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นของ AOT ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 500 ไร่จาก 723 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการปรับสีผังเมืองจากสีเขียว (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม) เป็นสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทราชการ) เสร็จแล้ว และพื้นที่เช่าแปลง 37 ของกรมธนารักษ์ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 700 ไร่ จาก 1,470 ไร่ อยู่ด้านนอกอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่แปลง 37 นั้น AOT ได้ดำเนินการขยายสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ออกไป 20 ปีจากที่จะสิ้นสุดสัญญาปี 2575 ไปเป็นปี 2595
“ตอนนี้เราทำงานคู่ขนานไป สำหรับพื้นที่ทั้งสองส่วน ซึ่งในส่วนของธนารักษ์ทราบว่าได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับราชพัสดุเพื่อขอใช้พื้นที่แล้ว จะมีการเสนอขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมธนารักษ์ในเร็วๆ นี้ ส่วนการปรับสีผังเมืองตอนนี้เสร็จแล้ว เหลือประกาศโดยจังหวัด ภาพรวมตอนนี้จึงคิดว่าจะเสร็จไปพร้อมกัน คู่ขนานกันไป”
สำหรับขั้นตอนการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวนั้นปัจจุบันมีเอกชนทั้งรายเล็กรายใหญ่กว่า 40 รายยื่นข้อเสนอเพื่อลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 รายที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา ประกอบไปด้วย 1.ผู้ประกอบการธุรกิจคาร์โก้ (คลังสินค้า) ซึ่งจะเป็นการรวมตัวของสินค้าจากท้องถิ่นที่มีมาตรฐาน และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ 2. ตลาดกลางสินค้าเกษตรก็มีเอกชนยื่นข้อเสนอที่จะเช่าพื้นที่แล้ว และ 3. โครงการศูนย์ฝึกนักบิน ของสายการบินไทยเวียดเจ็ท ที่มีแผนพัฒนาศูนย์ฝึกนี้รองรับในตลาด CLMV ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินโดยตรง โดย AOT คาดว่าจะสามารถเริ่มพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการได้ภายในเดือน ก.พ.-มี.ค. 64
อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้รายได้จาก Non Aero ของ AOT มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50% และรายได้จากธุรกิจการบินเป็น 50% ในปี 65-66 จากช่วงก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาดอยู่ในระดับ 43% และ 57% ตามลำดับ