“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” ผนึก “กฟผ.” นำร่องจ่ายไฟฟ้าจากอีวีสู่ระบบไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 1,071 

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จับมือ กฟผ. นำร่องศึกษาการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบไฟฟ้า ทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในอนาคต เตรียมต่อยอดสู่ภาคประชาชน

วานนี้ (19 ต.ค.2565) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 โดยใช้รถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถกลับสู่โครงข่ายระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของไทย ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

มร. อาราตะ ทาคาฮาชิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นรถยนต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน เนื่องจากรถรุ่นนี้มีเทคโนโลยีระบบหัวชาร์จ CHAdeMo ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบเดียวที่สามารถอัดประจุและคายประจุไฟฟ้าได้สองทิศทางจึงสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรอง พร้อมกับจ่ายไฟออกจากแบตเตอรี่สู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (V2G) หรืออาคาร (Vehicle-to-Building หรือ V2B) ได้

“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ. ในการผลักดันโร้ดแมปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเพื่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”

นางรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า การนำร่องศึกษาการควบคุมระบบการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (V2G) และ โรงไฟฟ้าเสมือน (VPP) ภายใต้โครงการ ERC sandbox ระยะที่ 2 เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กฟผ. จึงร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและทดสอบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่อาคาร (V2B) ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการจัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต และเตรียมการขยายผลสู่ภาคประชาชนต่อไป

“การส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ กฟผ. เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้นและสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต”

ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และ กฟผ. ได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทยให้เป็นห้องทดลองโครงการโรงไฟฟ้าเสมือนด้วยการติดตั้งเครื่องอัดและจ่ายประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-directional Charger) สำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลก เพื่อทดสอบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าระยะไกลจากแบตเตอรี่ของรถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายใต้สถานการณ์จำลองในรูปแบบต่าง ๆ และช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ พร้อมลดกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ