“ซีอีโอ ปตท.”ลั่นเปิดเกมส์รุกขยายลงทุนธุรกิจใหม่เต็มสูบ

ผู้ชมทั้งหมด 925 

ซีอีโอ ปตท.” เดินหน้าหาพันธมิตรขยายลงทุนธุรกิจใหม่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ล่าสุดจับมือ กทท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 64 มีแนวโน้มดีกว่าปี 63 แต่ต้องลุ้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้ได้ผล เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนกลุ่มบริษัท ปตท. ได้มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่ม Life science ซึ่งล่าสุดได้ปตท.ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รองรับการลงทุนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยจะโฟกัสใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจยา,ธุรกิจNutrition และธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศตามกลยุทธ์ New S Curve

พร้อมกันนี้บริษัทยังได้ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านคลาวด์และดิจิทัล และล่าสุดปตท. ได้จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เนต (Public Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่บริษัท องค์กรต่าง ๆ รวมถึงกลุ่ม ปตท.ด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีแผนขยายลงทุนในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ โดยล่าสุดลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายในท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของท่าเรือแหลมฉบัง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operation : SRTO) เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เพื่อพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง

ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็มีการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ โดยขณะนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-solid เซลล์แรกของประเทศไทย หรือ “G-Cell” ได้แล้ว ขณะเดียวกันปตท.ยังได้ดำเนินงานทางสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) อีกด้วย ส่วนจะมีการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล โดยในมุมมองส่วนตัวอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แทนการสนับสนุนการนำเข้ามากกว่า ซึ่งหากรัฐบาลมีการสนับสนุนก็ไม่ปิดกั้นที่จะมองหาพันธมิตรในการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ EV

นายอรรถพล กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 64 มีโอกาสเติบโตดีขึ้นกว่าปี 63 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะใช้ได้ผลดีหรือไม่ หากใช้ได้ผลดีก็จะส่งผลให้มีการเดินทางกันเพิ่มขึ้นและความต้องการใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ในส่วนของราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มปตท.ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งกลุ่มปิโตรเคมี น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการดำเนินงานปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของการขาดทุนสต็อกน้ำมัน และความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ฉุดมาร์จิ้นของธุรกิจแย่ลง

สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตามโครงสร้างสูตรราคาที่ส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-24 เดือนอาจจะส่งผลกระทบทำให้มาร์จิ้นลดลง อย่างไรก็ตามบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายการลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจุบันสามารถทำได้แล้วในระดับ 28-29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยทำไว้ในระดับ 31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงยังมีแผนมองหาการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยลดผลกระทบเรื่องมาร์จิ้นที่ลดลงได้