ผู้ชมทั้งหมด 946
WEH วางแผนขยายกำลังการผลิต COD พลังงานลม แตะ 1,500 MW ใน 5 ปี จ่อลงทุนเพิ่ม Healthcare & Wellness และธุรกิจใหม่ศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ยั่งยืน ตั้งเป้ารายได้ 3 ปี 15,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมเสนอขายหุ้นกู้รองรับการขยายธุรกิจ
นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่นเป็นหลัก มุ่งเน้นในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลม ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ ด้วยขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง และบริหารจัดการโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 717 เมกะวัตต์
โครงการทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทย่อยแต่ละแห่งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ กระแสไฟฟ้าที่กลุ่มบริษัทผลิตได้ทั้งหมดถูกจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“กฟผ.”) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement: PPA) ซึ่งทุกโครงการได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ให้กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย
โดยที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นหลัก สามารถรักษาการเติบโตที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปี 2563 รายได้รวม 9,972 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 10,985 ล้านบาท โดยมีความสามารถการทำกำไรอยู่ในระดับ 40-50% ทุกปี และสามารถจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในปี 2564 ทุกไตรมาสรวม 30.50 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ ผลประกอบการครึ่งแรกปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 5,100 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายไฟฟ้า ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณลมลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนรายได้อื่นสูงกว่าปีที่แล้ว มาจากกำไรจากเงินลงทุนในระยะสั้นที่ยังไม่รับรู้ 470 ล้านบาท ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆนั้นลดลง 110 ล้านบาท หรือ 13% และสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ถึง 4,900 ล้านบาท
สำหรับทิศทางในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซั่นของทุกปี อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากราคาค่าไฟของปี 2565 ที่ปรับสูงขึ้นจากค่า Ft ที่ประกาศจาก EGAT สูงขึ้นประมาณ 6% จากปีก่อน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ประมาณ 5-7% หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท
นายณัฐพศิน กล่าวต่อถึงแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปี ต่อจากนี้ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดกำลังการผลิตรวม COD จากพลังงานลม ให้แตะระดับ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงมองหาโอกาสการลงทุนที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“บริษัทวางแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า เตรียมความพร้อมยื่นประมูลโครงการพลังงานลม 9 โครงการ กำลังการผลิต 810 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ยื่นประมูลได้ในช่วงปลายปี 2565 ด้วยความพร้อมที่บริษัทมีในปัจจุบัน ทั้งด้านเงินทุน จากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งความพร้อมทางด้านบุคลากรมากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานทดแทน เชื่อว่าจะส่งผลให้บริษัทสามารถประมูลงานดังกล่าวได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม” นายณัฐพศิน กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทเริ่มขยายธุรกิจนอกเหนือจากพลังงานลมไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพและความงาม โดยบริษัทเข้าไปลงทุนในบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท)
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนศึกษาธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อาทิ ประเทศเวียดนาม กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปตะวันออก สามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตภายใน 3 ปี แตะ 15,000 ล้านบาท
ด้านนางบุษกร กอดำรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH กล่าวว่า จากแผนการดำเนินธุรกิจดังที่กล่าวมา บริษัทจึงเตรียมออกหุ้นกู้ระยะยาวชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 6.75 ต่อปี เสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ให้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ลงทุนศึกษาความพร้อมการขยายแผนธุรกิจพลังงานและลงทุนในธุรกิจอื่นๆ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้ สำหรับข้อพิพาทต่างๆ ของบริษัทในปัจจุบันเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลหรืออนุญาโตตุลาการ ทั้งข้อพิพาทระหว่างครอบครัวของอดีตกรรมการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และกรณีการโอนหุ้นไปยัง Golden Music Limited (“GML”) ปัจจุบันข้อพิพาทนี้อยู่ในขั้นตอนของการนัดพิจารณาเพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด โดยบริษัทฯ คาดว่า ข้อพิพาทดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในช่วงปลายปี 2566
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่กระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โครงสร้างการบริหารและการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากการดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมภายหลังจากที่บริษัทในเครือต่าง ๆ ของบริษัทฯ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงผู้รับจ้างดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้ในลักษณะของการเป็นการดำเนินธุรกิจปกติ (Operation) ตามมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีของการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม