ผู้ชมทั้งหมด 810
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน เหตุความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นในช่วง Golden week ของจีน และ gas-to-oil switching คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3 – 7 ต.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากตลาดยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากทัศนะของประธานเฟดสาขาต่าง ๆ มีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่อส่งน้ำมัน CPC จะกลับมาส่งออกน้ำมันในระดับปกติตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากรัสเซียส่งสัญญาณว่าทางกลุ่มOPEC+ ควรปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่อุปสงค์ความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดประจำปี (Golden week) ของจีน และราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นในยุโรป ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching)
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 3.0 – 3.25 % ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานเฟดสาขาเซนหลุยส์ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า เฟดควรเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2 % ต่อปี และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นไปที่แตะระดับร้อยละ 4.50 ในช่วงสิ่นปี ขณะที่ประธานเฟดสาขาชิคาโกมีมุมมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การแสดงทัศนะของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางทั้งสองบ่งชี้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
- ตัวเลขกำไรบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของจีน ปรับลดลง 2.1 % หลังสิ้นสุดเดือน ส.ค. หดตัวมากขึ้นจากระดับ 1.1 % ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาลง อันเป็นผลจากมาตรการล๊อกดาวน์ภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในบางภูมิภาคของประเทศ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการการใช้น้ำมันยังคงได้รับแรงสนับสนุนหลังจีนผ่อนคลายมาตรการล๊อกดาวน์ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดประจำชาติ (Golden week) ระหว่างวันที่ 1 – 7 ต.ค.
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีหน้า ลง 0.6 % จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.2 % เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลกดดันต่อปริมาณการใช้น้ำมัน
- ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. 65 โดยรัสเซียส่งสัญญาณว่าทางกลุ่มควรปรับลดกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากปัจจัยความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย
- ตลาดยังคงกังวลอุปทานก๊าซตึงตัว หลังพบการรั่วไหลของก๊าซบริเวณท่อ Nord Stream 1 และ 2 ซึ่งส่งออกก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป โดยคาดว่าการรั่วไหลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อวินาศกรรม ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวสูงขึ่น โดยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดท่อส่งน้ำมัน CPC จะกลับมาส่งออกน้ำมันที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน ก.ย. และอัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เดือน ก.ย. และตัวเลขเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน ก.ย.
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 26 – 30 ก.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 89.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 65 ปรับลดลง 0.215 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.443 ล้านบาร์เรล ขณะที่พายุเฮอริเคนเอียน เฮอริเคนระดับ 4 พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซราว 11%
อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันหลังสกุลเงินดออลล่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีดอลล่าสหรัฐฯ ปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ระดับ 114.527 ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีความน่าสนใจน้อยลง