ผู้ชมทั้งหมด 594
ขร.กำหนด 7 แนวทางการดำเนินงานเมื่อเกิดเหตุขบวนรถขนส่งทางรางขัดข้อง ย้ำระบบระบายอากาศภายในขบวนรถจะต้องทำงานต่อเนื่องอย่างน้อย 45 นาที เร่งประชาสัมพันธ์-อพยพผู้โดยสารอย่างปลอดภัยไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากการปะชุมหารือร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานกรณีระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้องและการจัดการการระบายอากาศภายในขบวนรถขนส่งทางราง
โดยมีกรณีศึกษาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 เวลา 13.46 น. ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้องช่วงสถานีหัวหมากถึงสถานีสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ไม่สามารถเดินรถไฟฟ้าได้ ต้องหยุดให้บริการระหว่างสถานีหัวหมากถึงสถานีสุวรรณภูมิเป็นการชั่วคราว โดยให้บริการเดินรถแบบไม่เต็มรูปแบบ ระหว่างสถานีพญาไทถึงสถานีรามคำแหง จนเมื่อเวลา 16.00 น. จึงสามารถให้บริการเดินรถแบบไม่เต็มรูปแบบ ระหว่างสถานีพญาไทถึงสถานีสุวรรณภูมิ และได้สามารถดำเนินการแก้ไขระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนจนสามารถกลับมาใช้แผนการเดินรถตามปกติได้ในเวลา 17.40 น.
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเมื่อเกิดเหตุรถขัดข้อง กรณีระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้องและการจัดการการระบายอากาศภายในขบวนรถขนส่งทางราง ดังนี้
1. ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้โดยสารในขบวนรถทราบถึงเหตุการณ์ขัดข้องที่เกิดขึ้น และแนวทางปฏิบัติต่อเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานะการแก้ไขปัญหาและแนวทางปฏิบัติให้ผู้โดยสารทราบเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้โดยสารขณะติดอยู่บนขบวนรถ
2. เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง ระบบระบายอากาศภายในขบวนรถจะต้องสามารถทำงานต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 45 นาที หรือมีช่องที่สามารถเปิดให้อากาศภายนอกไหลผ่านได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
3. ตรวจสอบแบตเตอรี่สำรองหรือแหล่งจ่ายไฟสำรองภายในขบวนรถให้มีสภาพพร้อมใช้งานเมื่อระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวต้องมีพลังงานเพียงพอสำหรับการทำงานของระบบที่จำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและขบวนรถ เช่น ระบบห้ามล้อ ระบบระบายอากาศ ระบบส่องสว่าง ระบบเปิด – ปิดประตูอัตโนมัติ ระบบอพยพ และระบบติดต่อสื่อสาร
4. กรณีหากไม่สามารถนำรถไฟฟ้าไปยังสถานีถัดไปได้ ไม่ว่าด้วยการขับเคลื่อนเองหรือต่อพ่วง หรือเมื่อระบบระบายอากาศไม่สามารถทำงานได้ หรือต้องใช้เวลาแก้ไขนานเกินควร ให้พิจารณาอพยพผู้โดยสารออกจากขบวนรถอย่างปลอดภัยไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลการอพยพ
5. ให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าสำรวจจุดเสี่ยงที่อาจทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนเกิดการลัดวงจร และพิจารณาหาแนวทางป้องกันไม่ให้ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเตรียมพร้อมรับมือพายุที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการขนส่งทางรางได้
6. เมื่อเกิดปัญหาความขัดข้องของการเดินรถไฟฟ้าที่ทำให้การเดินรถเป็นไปด้วยความล่าช้าเกิดการสะสมของผู้โดยสารตกค้างที่สถานี หน่วยงานที่ให้บริการให้ดำเนินการประสานกับหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งมวลชนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อส่งรถโดยสารประจำทางเข้ามาให้บริการในจุดที่เกิดปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางต่อไป
7. ดำเนินการฝึกซ้อมแผนการรับมือและแผนรองรับในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน/ขัดข้อง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ขร.ได้ลงพื้นที่สำรวจหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ร่วมกับผู้แทน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่ง ขร.จะติดตามการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางเกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป