โลก จับตาเทรนด์ธุรกิจ “ตลาดไฟฟ้าเสรี”

ผู้ชมทั้งหมด 1,274 

“ไฟฟ้า” ที่มนุษย์มีใช้กันทั้งวันทั้งคืน เคยสงสัยกันไหมว่ามาจากไหน ทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงไฟฟ้าที่มีทั้งความเสถียร ไม่ตก ไม่ดับ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายหรือเปล่า หรือมีวิธีการใดที่เราจะใช้ไฟฟ้าในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้บ้าง

“การผลิตไฟฟ้า” เป็นอีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเข้าสู่โหมดปรับตัวและเปลี่ยนผ่านเพื่อตอบโจทย์ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ จากนโยบาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่นานาประเทศออกมาประกาศเจตนารมณ์ ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องสร้างเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้รับซื้อ ควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรให้มั่นคงในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจที่ต้องส่งมอบผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยเหตุนี้ ระบบโครงสร้างการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ตลอดจนตลาดการซื้อ-ขายไฟฟ้าที่มีอยู่ในวงการไฟฟ้าจึงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาเรียนรู้ หากเราทุกคนต่างต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ กล่าวคือ ตอบโจทย์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ใครเป็นใครในตลาดไฟฟ้า

สำหรับตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าทั่วไป กว่าที่ไฟฟ้าจะส่งต่อมาถึงประชาชน มีผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิตทั้งรายใหญ่ (IPP – Independent Power Producer) รายเล็ก (SPP – Small Power Producer) และรายเล็กมาก(VSPP – Very Small Power Producer) ผู้ดูแลระบบสายส่งที่รับไฟจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ผู้จำหน่ายไฟฟ้าแบบขายปลีกให้ผู้ใช้รายย่อย สุดท้ายคือ ผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้า

ในกรณีที่ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่บริหารโดยภาครัฐ รัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน และทำสัญญาซื้อ-ขายระยะยาวกับผู้ผลิต แต่หากไฟฟ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี จะมีกลไกที่กำหนดการซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ขายไม่จำเป็นต้องขายให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเพียงรายเดียว อาจจะขายให้กับบริษัทเอกชนที่จะกระจายไฟฟ้าให้กับรายย่อยอีกทอดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ระบบสายส่งมักจะยังอยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าใน 8 ประเทศ ทั้งในไทย สปป.ลาว จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้เรียนรู้และศึกษาตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าในแต่ละประเทศ ทำให้เข้าใจและเห็นถึงลักษณะเฉพาะของตลาดไฟฟ้าที่แตกต่างกัน

ดร.กิรณ ลิมปพยอม ซีอีโอ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ ระบุว่า ตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างตลาดไฟฟ้าเสรี ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ราคาไฟฟ้าจะสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เนื่องจากผู้ผลิตที่มีอยู่หลายรายในตลาดจะแข่งขันกันในด้านราคา และพยายามควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของตัวเองให้ได้ต่ำที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่สมเหตุสมผล ฉะนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายด้วย โดยภาครัฐก็จะมีส่วนร่วมในการเข้ามาบริหารจัดการระบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าและมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไฟฟ้าขาดแคลนหรือดับ

ในแง่ของการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์หรือลมนั้น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มถูกลงจนถึงระดับที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากมาพร้อมกับกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก็จะขยายตัว เมื่อผนวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาจากฝั่งผู้ผลิต ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่ต่ำลงเช่นกัน

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงปี 2010 เกิดการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต โดยเปลี่ยนจากถ่านหินไปเป็นก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน หรือ Shale gas ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าของสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่มีแนวโน้มโดยเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่าถ่านหิน ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-10 ปี ถ้าไม่ใช่รูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรี” ดร.กิรณกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของเชื้อเพลิงในตลาดไฟฟ้าเสรีของสหรัฐอเมริกา

ผู้ผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรีที่มีการแข่งขันสูง จะมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค หากผู้ผลิตในตลาดรูปแบบนี้ส่วนใหญ่เลือกผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพในการผลิตต่ำ ก็จะทำให้สัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหรือก๊าซฯ ที่มีเสถียรภาพในผลิตสูงหรือมีความสามารถในการผลิตได้ในปริมาณเท่าที่ต้องการมีจำนวนลดน้อยลงตามไปด้วย ในบางครั้งจะทำให้เสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยรวมลดลง ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่าปกติเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไฟดับได้ในบางช่วงเวลา บางตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ ภาครัฐจะมีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องเป็นช่วงๆ หากกำลังการผลิตสำรองลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนด หรือเห็นว่าในระบบไฟเริ่มไม่มีเสถียรภาพ ก็อาจจะมีนโยบายค่าตอบแทนเพื่อจูงใจ (Incentive) ให้กับโรงไฟฟ้าพื้นฐาน เพื่อทำให้ระบบโดยรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น

ขนาดของตลาดกำหนดสภาพการแข่งขัน?

รูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรีเหมาะสมกับประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อสูง รวมถึงมีนโยบายและแผนพลังงานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชน อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่มีขนาดเล็กและมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 40,000 – 50,000 เมกะวัตต์ ก็เริ่มเปิดให้มีการแข่งขันเสรีในตลาดแล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์มีตลาดแบบประมูลซื้อขายไฟ (Wholesale Market) กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ด้วยผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ทำให้สามารถยอมรับค่าไฟในราคาที่แข่งขันกันและไม่มีการอุดหนุนจากภาครัฐได้

สำหรับสภาพตลาดในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่ BPP เข้าไปทำธุรกิจ เราจะเห็นรายละเอียดของตลาดที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง อาทิ

  • สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ทำให้มีตลาดแบบประมูลซื้อขายไฟจำนวนมาก แต่ละตลาดมีหน่วยงานกำกับแยกกัน นโยบายจึงต่างกัน ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือรัฐเท็กซัส ซึ่งมีตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าที่ชื่อว่า Electric Reliability Council of Texas (ERCOT) จะมีนโยบายแยกจากตลาดอื่นชัดเจน และไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากนโยบายส่วนกลางมากนัก เป็นตลาดที่แข่งขันเสรีมาก ราคาแข่งขันสูง เป็นตลาดที่กำลังโตในหลายๆ ด้าน
  • ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีแบบเรียลไทม์หรือ Spot market ที่ไม่มีการประมูลซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศเจตนารมณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี 2593 ส่งผลให้แต่ละรัฐต้องออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
  • ญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งที่มีนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจนโดยมุ่งเน้นที่การสร้างสมดุลทางพลังงาน เป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า มีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนจากภาครัฐ และมีแพลตฟอร์มซื้อ-ขายไฟฟ้า (Energy Trading) ที่เป็นการค้าปลีกให้ผู้ใช้รายย่อย

ทั้งนี้ รูปแบบของตลาดไฟฟ้าได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้ไฟฟ้า ประเภทของพลังงานที่ใช้ในการผลิต รวมถึงมาตรการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาครัฐของแต่ละประเทศก็จะมีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนั้น สภาพการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าจับตาดูว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า ความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจที่สะท้อนจากต้นทุนการผลิต และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องพิจารณาสามเหลี่ยมทั้ง 3 ด้านนี้ให้สมดุลกัน