รฟท.โชว์เดินรถ “KIHA 183” จากญี่ปุ่น ยืนยันไม่ใช่เศษเหล็ก

ผู้ชมทั้งหมด 1,184 

รฟท.โชว์เดินรถ “KIHA 183” จากญี่ปุ่น สวยสมบูรณ์ ไร้ปัญหา ยืนยันไม่ใช่เศษเหล็ก แต่เป็นรถไฟแบบท่องเที่ยวพร้อมเริ่มให้บริการประชาชนในเดือน ต.ค.นี้ ต้อนรับไฮซีซั่น ระบุคุ้มค่า ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าซื้อขบวนรถไฟใหม่ถึง 400 เท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ณ โรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการนำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 พร้อมร่วมทดลองเปิดเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ ว่า จากการทดสอบเดินรถที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ พบว่า อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สวยงาม พร้อมให้บริการประชาชน ไม่ใช่เศษเหล็กแน่นอน ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ได้ใช้ความเร็วในการเดินรถประมาณ 100 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.)

นายนิรุฒ  กล่าวว่า รฟท.ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab)  52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน แต่รฟท.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้ายคันละ 2.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 42.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ รฟท.ได้นำมาปรับปรุงเฉลี่ยคันละ 200,000 บาท สามารถที่จะใช้งานได้นานประมาณ 15-20 ปี ซึ่งหากเทียบกับการจัดซื้อตู้โดยสารใหม่ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง คันละ 80-100 ล้านบาท ถือว่ามีการดัดแปลงที่มีความคุ้มค่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่สูงถึง 400 เท่า

โดยปรับปรุงภายในรถใหม่ และมีการตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ รวมถึงทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน ตลอดจนปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ภายในจากภาษาญี่ปุ่นให้มีภาษาอังกฤษเพิ่มเติม พร้อมระบบห้องสุขา ซึ่งได้ทดลองระบบการทำงานแบบเสมือนจริงทั้งหมด อีกทั้งยังได้ดัดแปลง ชุดหัวท่อเติมน้ำใช้ และชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลให้สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารประเภทชุดด้วย

ขณะที่การปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมเพื่อคงกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นอยู่

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ฝ่ายการช่างกล ได้ปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ชุดแรก เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน เหลืออีก 1 คัน อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2565 จากนั้นได้ทำการทดสอบสมรรถนะของก่อนนำรถทั้ง 4 คัน มาเปิดให้บริการประชาชนในรูปแบบรถไฟท่องเที่ยวช่วงเดือนต.ค.นี้ในเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ซึ่งเส้นทางที่จะเปิดให้บริการนั้น อย่ะหว่างการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่เบื้องต้นอาจจะนำร่องให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร (กม.) เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์, กรุงเทพ-กาญจนบุรี, กรุงเทพ-หัวหิน, กรุงเทพ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ส่วนอีก 13 คันที่เหลือ จะทยอยปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดช่วงต้นปี 66

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 รฟท.ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v. / 220 v. 50 Hz คาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคัน ประมาณ 2 ปี