ผู้ชมทั้งหมด 915
ไทยออยล์ ประเมิน ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผัวผวน เหตุตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัส ขณะที่ยังมีความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 83 – 93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 90 – 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 5 ก.ย.- 9 ก.ย.65 โดยประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (OPEC+) นำโดยซาอุดิอาระเบียซึ่งส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มน้อยลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลต่อนโยบายที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในการดำเนินนโนยบายทางการเงินที่เข้มข้น โดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75 % ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันและกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ก.ย. 65 โดยตลาดคาดการณ์ว่าทางกลุ่มอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลง หลัง รมว. พลังงานของซาอุดิอาระเบีย ส่งสัญญาณว่ากลุ่ม OPEC+ อาจควรปรับลดการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ หลังมองว่าตลาดซื้อน้ำมันล่วงหน้า (Future market) ซื้อขายโดยขาดความเชื่อมโยงกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันดิบจริง (Physical market) ทำให้ราคาเกิดความผันผวนสูง ตามสถานการณ์ที่เข้ามารายวัน ทั้งนี้ โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในการประชุมประจำปีเมื่อ 26 ส.ค. กล่าวพร้อมเดินหน้าใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดผ่านการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดอาจจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75 % สู่ระดับ 3.00 – 3.25 % ในการประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 21 – 22 ก.ย. 65 นี้ โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจทำให้ค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และอาจกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันใช้สกุลเงินดอลล่าสหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลัก ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75 % ในการประชุมเดือน ก.ย. เช่นกัน
- ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีน เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 49.4 ซึ่งต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากนโยบายปลอดโควิดของรัฐบาล วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และภาวะขาดแคลนพลังงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนี้อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบในปริมาณมากที่สุดในโลก
- ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 คาดว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงในวันที่ 2 ก.ย. อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะยังอยู่ที่ระดับ 20 % ของกำลังการผลิต ทั้งนี้เยอรมนีอยู่ในระหว่างกระบวนการเตรียมก๊าซสำรองในคลังสำรองให้เพียงพอสำหรับการใช้ในฤดูหนาว โดยล่าสุดเยอรมนีมีปริมาณก๊าซสำรองที่ระดับ 83 % ของความจุคลัง และปรับลดการพึ่งพาปริมาณก๊าซจากรัสเซีย โดยในเดือน ส.ค. 65 ที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าก๊าซจากรัสเซียที่ระดับ 9.5 % ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ต่ำกว่าปีก่อนที่ระดับ 55 %
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิรักเปิดเผยว่า ทางบริษัทพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันดิบไปยังยุโรปหากมีความจำเป็น ขณะที่ในปัจจุบัน ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอยู่ที่ระดับ 3.36 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของความต้องการของโลก ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค. 65 ของจีน ซึ่งตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.9 % และดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน ส.ค. 65 ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 83 – 93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 90 – 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 29 – 2 ก.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 10.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 12.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 94.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน อันเป็นผลมาจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น
รวมถึงนโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงหนุนจากรายงานสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 65 ปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล