ผู้ชมทั้งหมด 871
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมากสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคม ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยหลักแห่งความเสมอภาคภราดรภาพ การเชิดชูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินงานให้บรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องได้รับความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนในสังคม
ทั้งนี้ในโอกาสครบรอบการดำเนินงาน 20 ปี กสม. จึงได้จัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบของสมัชชาสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายและประชาชนในภูมิภาคเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต และเพื่อขยายเครือข่าย การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันเวทีสมัชชาในครั้งนี้ มีการนำเสนอประเด็นความร่วมมือ ความสำเร็จ และความท้าทายเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการปาฐกถาของผู้ทรงคุณวุฒิ
การนำเสนอความก้าวหน้าของพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการเปิดตัวหนังสือ “เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษกสม.” รวมถึงการนำเสนอ ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อยใน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญ ได้แก่ (1) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) สถานะบุคคล (4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง และ (5) ความหลากหลายทางเพศ
ภายในงาน ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอผลงาน 20 ปีแห่งความภาพภูมิใจจากอดีตสู่ปัจจุบัน และอนาคตในทศวรรษหน้า แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เหลียวหลัง นำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมา บทบาทหน้าที่ และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนที่ 2 ปัจจุบัน นำเสนอผลงานเด่น การขับเคลื่อนนโยบาย ทิศทางของยุทธศาสตร์ กสม. โดยจะมีการนำหนังสั้นและ สื่อต่าง ๆ มาจัดแสดงที่โซนนี้ด้วย ส่วนที่ 3 แลหน้า เป็นส่วนการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้ กสม. ดำเนินการ การนำเสนอผลงานวิจัย บูธกิจกรรมเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และส่วนที่ 4 นิทรรศการของภาคีเครือข่าย
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานจะมีช่วงเวลาสำคัญที่ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจะได้นำเสนอข้อมติทั้ง 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญจากการร่วมกันสะท้อนสถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้จะมีการประกาศเจตนารมณ์รวมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกันด้วย