อู่กรุงเทพ และ กฟผ. วางกระดูกงูเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกลำแรกของไทย 

ผู้ชมทั้งหมด 847 

พลเรือโทวิโรจน์ นิลพงษ์ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ และพลเรือตรีธนากร แจ้งจิตร ผู้อำนวยการอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชร่วมเป็นเกียรติในพิธีวางกระดูกงูเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบก (EV Amphibious Boat) ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีนายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ทำพิธีวางกระดูกงูเรือเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการต่อสร้างเรือ ณ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด(สัตหีบ) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

กฟผ. และ บอท. ได้ร่วมกันพัฒนาเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกลำแรกของไทยเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกจะต่อสร้างขึ้นด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ความยาวไม่น้อยกว่า 9.50 เมตร โครงสร้างตัวรถขนาด 6 ล้อ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน หัวชาร์จแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charger)ประเภท CCS type 2 ความเร็วเมื่อแล่นบนบกไม่น้อยกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วเมื่อแล่นในน้ำไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 20 คนภายในประกอบด้วยเครื่องเสียง โทรทัศน์ กล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบปรับอากาศ 

นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาเรืออลูมิเนียมท้องแบนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้เป็นเรือตรวจการณ์อีกจำนวน 5 ลำ ต่อสร้างขึ้นด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ความยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร ความกว้างตัวเรือไม่น้อยกว่า 2 เมตรกินน้ำลึกสูงสุดไม่เกิน 0.30 เมตร แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน หัวชาร์จแบบชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charger) ความเร็วไม่น้อยกว่า 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 คน

ทั้งนี้ เรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกและเรืออลูมิเนียมท้องแบนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะนำร่องใช้งานที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เป็นแห่งแรก ในช่วงต้นปี 2566