“เอกชน” กระทุ้ง “รัฐ” เร่งปลดล็อกระเบียบเปิดซื้อขายไฟฟ้าซื้อเสรี รับมือเก็บภาษีคาร์บอน

ผู้ชมทั้งหมด 1,481 

“รัฐ-เอกชน” ร่วมเสวนาถกทางออกรับมือจัดเก็บภาษีคาร์บอน ด้านกรมสรรพสามิต ลั่นเตรียมจัดเก็บภาษีโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ เอกชน ขอรัฐชัดเจนนโยบาย เร่งปลดล็อกระเบียนเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มทางเลือกใช้พลังงานสะอาด หวั่นกระทบค่าไฟ และถูกตั้งกำแพงกีดกันส่งออกสินค้า  

“สภาวะโลกร้อน” กลายเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเพื่อลดการอุณหภูมิของโลกไม่ให้ปรับขึ้นเกิน 1.5 องศา ตามข้อตกลงผู้นำ COP 26 ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทำให้การหยิบยกเรื่อง กลไกด้านราคาคาร์บอน กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อกดดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จะต้องให้ความร่วมมือในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) และกรมสรรพสามิต จึงได้งานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ภาษีคาร์บอน ใครต้องจ่าย จ่ายเมื่อไหร่” เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำข้อมูลไปสู่การพิจารณาจัดเก็บภาษีคาร์บอนของภาครัฐต่อไป โดยมีวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ประกอบด้วย ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงาน กกร. ด้านพลังงาน นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุวัฒน์ กมลพนัส รองประธานคณะทำงานพลังงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม  ถือเป็นภาคที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ขณะที่สภาวะโลกร้อน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้ภาคการเงิน หรือ สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มนำประเด็นดังกล่าวเข้ามาเป็นกลไกกดดันให้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่า รัฐบาลไทยจะมีเป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2050 หรือจะมีเวลาดำเนินการใน 28 ปีข้างหน้า แต่ภาคเอกชนไม่สามารถรอได้ เพราะจะถูกกดดันจากต่างประเทศที่มีมาตรการออกมาบังคับ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสภาพยุโรป(CBAM) ที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2569 กับสินค้าอุตสาหกรรม 5 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะกลายเป็นข้อกีดกันการส่งออกของไทย

“วันนี้ รัฐกับเอกชนยังมองต่างมุม รัฐมองข้างหน้ายังมีเวลาอีก 28 ปีค่อยทำ แต่เอกชน มองเป็นเวลานับถอยหลัง และภาษีคาร์บอน ถามว่าใครต้องจ่าย คำตอบคือ จ่ายทุกคนแต่ใครจ่ายตรงและจ่ายอ้อมเท่านั้น”

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ วันนี้ภาคอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการใช้ 6 ขั้นตอนก่อนนำไปสู่เรื่องของ “กรีนคาร์บอน” ประกอบด้วย

  1. Design Passive & Active Design เริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคาร (ศูนย์การค้า สำนักงาน โรงงาน และอื่นๆ) สายการผลิต ให้ได้มาตรฐาน อาคารเขียว TREES,LEED
  2. Energy Efficiency ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งสายการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และSME จะต้องลงทุน
  3. Renewable Energy (RE) หันมาใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นการลดปล่อยคาร์บอน โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
  4. 3R+1W+1C ได้แก่ เรื่องของ Reduce ลดการใช้, Reuse ใช้ซ้ำ, Recycle รีไซเคิล, Waste Management การจัดการของเสีย และ Carbon Capture การดักจับคาร์บอน
  5. Carbon Credit Certificate คำนวณการใช้พลังงานที่ลดลง หรือ ประหยัดได้เพื่อประเมินผลการลด Greenhouse Gas เพื่อออกใบรับรอง Carbon Credit
  6. Carbon Credit/RE Platform ทำเรื่องตลาดกลางซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนกรีนคาร์บอน และพลังงานสะอาด

นายสุวัฒน์ ระบุว่า ภาษีคาร์บอน คือ กลไกที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ ต้องมีต้นทุนสูงขึ้น โดยรวมเรียก Carbon Price Instruments(CPIs) หรือ กลไกราคาคาร์บอน ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอนก็ถือเป็น CPIs ประเภทหนึ่งในหลายไประเภท และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า โลกกำลังร้อนขึ้นจากการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ ดังนั้น จึงต้องลดการปล่อยคาร์บอนโดยทำให้การปล่อยคาร์บอนมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกได้ออกระเบียบเกี่ยวกับ CPIs ขึ้นมาใช้ ขณะเดียวกัน ประเทศพัฒนาแล้วมองว่า การลดคาร์บอน เป็นเรื่องของทุกประเทศที่ต้องช่วยกัน และได้ออกมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่ไม่มีมาตรฐานด้านภาษีคาร์บอน เช่น CBAM ที่จะเริ่มปรับราคากับสินค้าอุตสาหกรรม 5 รายการในปี 2569 แม้ว่าเบื้องต้นสินค้า 5 รายการดังกล่าวจะได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 0.05% ของการส่งออกไทย แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มรายการสินค้าและครอบคลุมมากขึ้น เช่น เยื่อกระดาษ และเม็ดพลาสติก ที่จะเจาลึกลงไปถึงต้นทางการผลิตสินค้าที่ต้องมาจากพลังงานสะอาด ซึ่งในต้นปีนี้ ทางสหภาพยุโรป(EU) ได้ร่างกฎหมายตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรป เพื่อเตรียมบังคับใช้กับบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจกับ EU ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และข้อกฎหมายนี้ แม้จะระบุว่า บังคับใช้กับบริษัทใหญ่ แต่สุดท้าย SME ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะSMEก็เป็นหนึ่งในห่วงโซอุปทานของบริษัทใหญ่ และกฎหมายนี้กำลังจะออกมาในเร็วๆนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเร็วขึ้น ไม่ใช่ปี ค.ศ.2050 ตามที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการ Carbon Neutral ในปี 2050 หากปล่อยถึงเวลานั้นคงรับมือไม่ทัน อีกทั้งประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 20 จากจำนวน 20 ประเทศทั่วโลกที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด จึงทำให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ต่างประเทศจับตามอง

ส่วนภาษีคาร์บอน ควรจัดเก็บเท่าไหร่นั้น ปัจจุบันทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน โดยราคาที่แต่ละประเทศแตกต่างกันตั้งแต่ 1-135 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีการกำหนด แต่ราคาคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกันจริงอยู่ระหว่าง 1-5 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ขณะที่ IMF และ Word bank ประเมินว่าไว้ว่าควรอยู่ที่ราคา 50-100 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม กลไกด้านราคาคาร์บอน(CPIs) ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ได้แก่ Carbon Offset เป็นตลาดเกิดจากภาคสมัครใจ เช่น พวกคาร์บอนเครดิต, Car and Trade กลไกการซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอนเครดิต และ Carbon Tax ก็คือการเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นต้น  

นายนที กล่าวว่า ประเทศไทยหนีไม่พ้นเรื่องของภาษีคาร์บอน ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (FTI-CCI) เพื่อผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE 100 และวันนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเห็นคือนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ประกาศจะผลักดันเรื่องของพลังงานสะอาด ออกมานานแล้ว ภายใต้แผน 4D คือ 1.Decarbonization 2. Decentralization 3. Digitalization และ4. De-Regulation ที่ถือเป็นมาตรการที่ดี แต่ประเด็นคือจะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่

“ตอนนี้ เรารอ De-Regulation เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าไม่แก้กฎระเบียบเปิดให้การซื้อขายไฟฟ้าเสรี กลไกต่างๆก็จะเดินไปต่อไม่ได้ เพราะวันนี้โครงสร้างไฟฟ้าไทยยังเป็นลักษณะผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single buyer) ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจาก RE 100 ได้เต็มที่ ฉะนั้น หากจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนกับโรงไฟฟ้าในอนาคตก็อาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และถึงเวลานั้น หากไม่ De-Regulation แล้วผู้ใช้ไฟจะมีทางเลือกไหม ถ้าอยากจะใช้ RE ที่ไม่มีภาษี

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้เตรียมทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่จะถูกกดดันการส่งออกใน 3-4 ปีข้างหน้า โดยการทำเรื่องของ Digital Trading Platform พัฒนาระบบบล็อกเชนขึ้นมาใช้เป็นตลาดให้สินค้าที่หลากหลายขึ้นมาใช้ ซึ่งสินค้าก็จะมีหลายประเภท เช่น คาร์บอนเครดิต , T-VER และ RECs เป็นต้น ก็จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น มีความโปร่งใสด้านราคามากขึ้น ซึ่งก็กำลังพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่นๆด้วย และโดยเฉพาะภาคการส่งออก

นายณัฐกร กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ได้เริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ และพัฒนาไปสู่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลควรมีการจัดเก็บภาษีด้วย เช่น ถ่านหิน และ NGV เป็นต้น ดังนั้นหากมีจัดเก็บภาษีแล้ว โรงงานผลิตไฟฟ้าจะต้องปรับตัวนำเรื่องของพลังงานสะอาดมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น อันนี้เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนภาษีคาร์บอนในอนาคต

ขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศว่ามีบทบาทอย่างไรบ้าง เช่น ภาษี CBAM ที่ EU จะเริ่มใช้กับสินค้า 5 รายการในปี 2569 ฉะนั้น หากกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีแล้ว ก็จะไม่มีการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนอีก และรัฐก็จะมีรายได้มาพัฒนามาลดต้นทุนปล่อยคาร์บอนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตามเป้าหมายของภาครัฐ ที่กำหนดเรื่อง Carbon Neutral ในปี 2050 จำเป็นต้องนำมาตรการทางภาษีหลายตัวมาใช้ เช่น CBAM การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในเรื่องของเชื้อเพลิง และการสนับสนุนเรื่องของพลังงานสะอาด ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำมาใช้ และในปี 2065 ที่กำหนดเป้าหมาย  ZERO CARBON ก็จะเป็นอีกมาตรการที่ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในการนำพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่า ถ้ามาตรการภาษีออกมาจะทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานเหล่านี้ถูกลง ขณะที่ถ้าใช้ฟอสซิลก็จะมีภาษีแพงขึ้น

เราจะใช้เวลาปรับตัวก่อนจัดเก็บภาษี 3-5 ปี และวันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะโดนก่อน ก็คือที่ปล่อยคาร์บอนมาก เช่น โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนภาคการขนส่ง ที่ทำเรื่องของภาษีไปแล้ว เช่น ปี2569 รถสันดาปภายในจะมีอัตราภาษีที่แพงขึ้น ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)จะได้รับการยกเว้นภาษี  และภาคครัวเรือนจะทำเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่ง ภาษีคาร์บอนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วันนี้กำลังดูว่า จะทำอย่างไรให้โปร่งใสเป็นธรรม และเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมในประเทศได้

ทั้งนี้ เชื่อว่า การจัดเก็บ ภาษีคาร์บอน จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมมีขีดแข่งขันมากขึ้น และการปล่อยมลพิษก็จะน้อยลง