กฟผ. ดันแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading หนุนบ้านติดโซลาร์รูฟท็อป 5 แสนหลังใน 5 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 1,107 

กฟผ. เปิดตัวโครงการ SolarPlus ผนึก พันธมิตร 4 หน่วยงาน นำนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า Peer-to-Peer Energy Trading Platform เป็นสื่อกลางเชื่อมการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop ครั้งแรกในไทย ตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลัง ทั่วประเทศภายใน 5 ปี มุ่งสู่พลังงานสะอาด

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมเปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้ง Solar Rooftop ให้แก่ประชาชน เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด โดย กฟผ. ได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้สำหรับเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในโครงการนำร่องที่หมู่บ้านศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 จ.ปทุมธานี พร้อมตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลัง ทั่วประเทศภายใน 5 ปี คาดจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับอีก 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด โดยมีการร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณ ตึก KLOUD by KBank สยามสแควร์ ซอย 7 กรุงเทพฯ

สำหรับแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ของ กฟผ. เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Prosumer หรือผู้ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้งาน มาเสนอซื้อ-ขายระหว่างกันได้โดยตรง (Peer-to-Peer) ซึ่งผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว โดยรองรับการตกลงซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาทวิภาคี (Bilateral Trading) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้งานสามารถติดตามค่าการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน

รวมทั้งดูประวัติย้อนหลังได้ตลอดเวลา โดย กฟผ. อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถใช้งานได้ง่ายและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น พร้อมเตรียมขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคต่อไป

อย่างไรก็ตาม กฟผ. พร้อมเดินหน้าการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของ กฟผ. ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการ Solutions ด้านพลังงานแบบครบวงจรในอนาคต