PTTEP คาดปริมาณการขายและราคาหนุนผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังโต

ผู้ชมทั้งหมด 1,167 

ปตท.สผ. ลุ้นผลผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี65 โตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนยอดขายและราคาก๊าซฯปรับเพิ่มขึ้น คาดทั้งปี 65 ปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 465,000 บาร์เรลต่อวัน ราคาก๊าซเฉลี่ย 6.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ประเมินราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยครึ่งหลังปี65 อยู่ที่ 90-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี65 อยู่ที่ 27-33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2022 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2565 โดยระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า ผลประกอบการจะเติบโตขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 480,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และเฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ระดับ 465,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หลังได้รับปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นทั้งจากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ขณะที่ราคาก๊าซฯ ไตรมาส 3 และเฉลี่ยทั้งปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 6.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 29-30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

บริษัท ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยครึ่งหลังปี65 อยู่ที่ 90-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี 65 อยู่ที่ 27-33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยการใช้ก๊าซฯของโลกจะเพิ่มแตะระดับ 392 ล้านตันต่อปี จากการใช้ในยุโรปที่ต้องการก๊าซฯทดแทนการซื้อจากรัสเซีย ส่วนการผลิตก๊าซฯก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากแหล่งเก่าและแหล่งใหม่ ซึ่งจะทำให้ในระยะต่อไปราคาก๊าซฯจะปรับลดลงได้ ขณะที่ในประเทศ คาดว่า ราคาก๊าซฯไตรมาส 3 จะสูงขึ้นจากไตรมาส 2 และสูงสุดในไตรมาส 4 เพราะเป็นรอบการปรับราคาก๊าซฯในอ่าวไทย

โดยปีนี้ บริษัท มีแผนจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็น รายจ่ายในการลงทุน (CAPEX) อยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ และรายจ่ายในการดำเนินงาน(OPEX) อยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) ได้แก่ โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) บริษัทได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในได้ตามแผน โดยปีนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปี2566 จะเพิ่มเป็น 300-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และช่วงเดือนเม.ย. ปี 2567 จะแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการฯใหม่ ในประเทศ ทั้ง โครงการG1/65 โครงการG2/65 และโครงการG3/65 ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างพิจารณาทางเทคนิคและยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่อย่างไร

ส่วนโครงการในมาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีได้เสร็จสิ้นการดำเนินการเจาะหลุมประเมิน ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย โดยยังตั้งเป้าหมายจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ในปี 2566 รวมถึงมองโอกาสเพิ่มเติมในรอบการประมูลใหม่ของปีนี้ด้วย

ขณะที่โครงการลงทุนในเมียนมา บริษัท ได้เข้ารับเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา แล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและยังรักษาอัตราการผลิตได้ตามปกติ ส่วนเหตุการณ์รอยรั่วท่อส่งก๊าซฯ โครงการซอติก้า ในเมียนมานั้น เบื้องต้นตรวจสอบแล้วไม่พบรอยเพลิงไหม้ จึงได้หยุดส่งก๊าซฯมายังประเทศไทยชั่วคราว ทำให้กำลังการผลิตหายไปประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์  

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการกลับเข้าพื้นที่ ซึ่งบริษัทก็มีการพูดคุยกับโททาล เบื้องต้น คาดว่า จะเริ่มการผลิตก๊าซฯได้ในปี 2568

ส่วนโครงการลงทุนในประเทศแอลจีเรีย บริษัทได้เริ่มการผลิตเฟส1 ไปแล้วเมื่อต้นปีมิ.ย.ที่ผ่านมา กำลังการผลิตระยะแรก คาดว่าจะอยู่ที่ 10-13 พันบาร์เรลต่อวัน ซึ่ง ปตท.สผ.มีสัดส่วนอยู่ในโครงการนี้ 49% คาดว่าจะรับรู้กำลังการผลิตเข้ามาช่วงไตรมาส3-4 ปีนี้ ประมาณ 7 พันบาร์เรลต่อวัน

และในประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บริษัท ได้ประสบความสำเร็จจากการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2  ได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในแหล่งกักเก็บโดยรวมประมาณ 2.5 – 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในยูเออีต่อไปด้วย

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า บริษัท ยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการ Gas to power และ LNG to power ตามแผนขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่( Beyond E&P) โดยในส่วนของโครงการ Gas to power ในเมียนมา ปัจจุบัน ยังมีการเตรียมงานกันอยู่ แต่เนื่องจากยังมีสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ก็อาจทำให้บางแผนงานชะลอไปบ้าง

ส่วนความคืบหน้าแผนการขายแหล่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั้น โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา บริษัทได้คืบพื้นที่ของโครงการ ให้กับรัฐบาลแคนาดาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ส่วนการตั้งสำรองทางบัญชีได้มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ออกไปหมดแล้ว

สำหรับโครงการโครงการแคช เมเปิล ในออสเตรเลีย ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อประเมินทางเลือกในการพัฒนาโครงการในอนาคตต่อไป