AMATA มั่นใจครึ่งปีหลังยอดขายที่ดินฟื้นตัว หนุนภาพรวมทั้งปีตามเป้า 1,000 ไร่

ผู้ชมทั้งหมด 461 

AMATA มั่นใจครึ่งปีหลัง 65 ยอดขายที่ดินเพิ่มรับเปิดประเทศ หนุนภาพรวมทั้งปีตามเป้า 1,000 ไร่ ชี้ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อน เชื่อเป็นปัญหาระยะสั้น ไม่กระทบการลงทุนระยะยาว

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หากรัฐบาลยังคงนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่ายอดขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะซีตี้ชลบุรี และ นิคมฯอมตะซิตี้ระยอง จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยยอดขายจะอยู่ประมาณกว่า  1,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้นักลงทุนเริ่มทยอยกลับเข้ามาหลังจากที่ไตรมาส 1-2 เป็นช่วงที่นักลงทุนอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ลงพื้นที่จริงเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกที่ดินในการประกอบการ ทำให้ในช่วงไตรมาส 3-4 เป็นช่วงที่ผู้บริหารระดับสูงเริ่มตัดสินใจ ทำให้การขายที่ดินของอมตะ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตามต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญเพราะมีผลต่อการเดินทางของนักลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย

“ในช่วงครึ่งปีหลังจึงเป็นไฮซีซั่นของการลงทุนหรือการขายพื้นที่นิคมฯ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่เห็นว่าสำคัญนั่นคือการเดินทางมาดูพื้นที่ได้สะดวกย่อมดีกว่า โดยช่วง 2 ปีที่โควิด 19 ระบาดต่างคนต่างล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงัก ดังนั้นถ้ายังคงนโยบายเปิดประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเพราะส่วนใหญ่นักลงทุนที่เข้ามา จะมองการลงทุนในระยะยาวมากกว่า” นายวิบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้  มีประเทศจีนที่ยังคงใช้นโยบายซีโร่โควิด ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ในขณะที่บางประเทศเดินทางกลับไปแล้วต้องกักตัวนาน ทำให้เกิดความยุ่งยากของนักลงทุน  แต่ตอนนี้หลายประเทศเปิดแล้วโดยเฉพาะญี่ปุ่น การเดินทางการเจรจาจะสะดวกขึ้น ดังนั้นเชื่อว่า สถานการณ์การลงทุนในปีนี้โดยรวมจะขยายตัวมากกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่อ่อนตัว มองว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ไม่น่าจะยืดเยื้อ ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการลงทุนที่เข้ามาเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก และเป็นการลงทุนในระยะยาว เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในนิคมฯอมตะที่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 70-80% ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวในส่วนของสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเชื่อว่าหาจุดลงตัวได้